สกุลเงินของประเทศต่าง ๆ ในเอเชียอาจปรับตัวขึ้นรายเดือนแข็งแกร่งที่สุดในรอบกว่า 6 ปี โดยได้แรงหนุนจากการคาดการณ์ที่ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ใกล้จะยุติวงจรการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย
ดัชนี Bloomberg JPMorgan Asia Dollar Index ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของสกุลเงินดอลลาร์ในเอเชียซึ่งเจพีมอร์แกนจัดทำร่วมกับสำนักข่าวบลูมเบิร์ก พุ่งขึ้น 2.7% ในเดือนพ.ย. และมีแนวโน้มที่จะทำสถิติรายเดือนที่แข็งแกร่งที่สุดนับตั้งแต่เดือนมี.ค. 2559 โดยเงินวอนของเกาหลีใต้ทำผลงานได้ดีที่สุดด้วยการพุ่งขึ้น 7% ตามด้วยเงินบาทของไทยแข็งค่าขึ้น 6.8%
ยูจีเนีย วิกโทริโน หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์ประจำภูมิภาคเอเชียจากบริษัท Skandinaviska Enskilda Banken AB ในสิงคโปร์กล่าวว่า "แม้ว่าเฟดสื่อสารอย่างชัดเจนกับตลาดว่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป แต่การปรับตัวขึ้นของดอลลาร์เริ่มส่งสัญญาณว่ากำลังจะสิ้นสุดลง สกุลเงินในภูมิภาคเอเชียมีโอกาสที่จะกลับมาแข็งแกร่งอีกครั้ง หลังจากที่อ่อนค่าลงอย่างมากในปีนี้"
ทั้งนี้ แม้ว่าเจ้าหน้าที่เฟดหลายราย ซึ่งรวมถึงนายจอห์น วิลเลียมส์ ประธานเฟดสาขานิวยอร์ก และนายเจมส์ บูลลาร์ด ประธานเฟดสาขาเซนต์หลุยส์ได้ออกมาสนับสนุนให้เฟดเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย แต่นักลงทุนส่วนใหญ่คาดการณ์ว่า คณะกรรมการเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพียง 0.50% ในการประชุมวันที่ 13-14 ธ.ค.นี้ หลังจากที่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแรงถึง 0.75% ในการประชุม 4 ครั้งติดต่อกันก่อนหน้านี้
อย่างไรก็ดี สกุลเงินในภูมิภาคเอเชียยังคงมีความอ่อนไหวต่อความเสี่ยงที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในจีน หลังจากที่ชาวจีนในเมืองต่าง ๆ พากันประท้วงต่อต้านมาตรการควบคุมโควิด-19 ขณะที่เทรดเดอร์ต่างก็จับตาท่าทีของรัฐบาลเพื่อประเมินสถานการณ์ว่า เหตุการณ์ความไม่สงบในครั้งนี้จะยิ่งทำให้จีนเพิ่มความเข้มงวดในการใช้มาตรการล็อกดาวน์ หรือจะสามารถกดดันให้รัฐบาลจีนยุติการใช้นโยบายโควิดเป็นศูนย์