ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันพฤหัสบดี (15 ธ.ค.) หลังจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเชิงรุกเพื่อสกัดเงินเฟ้อ
ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.76% แตะที่ระดับ 104.5570
ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 137.73 เยน จากระดับ 135.34 เยน และแข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9282 ฟรังก์ จากระดับ 0.9244 ฟรังก์
นอกจากนี้ ดอลลาร์สหรัฐยังแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.3650 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3551 ดอลลาร์แคนาดา และแข็งค่าเมื่อเทียบกับโครนาสวีเดน ที่ระดับ 10.3259 จากระดับ 10.1902 โครนาสวีเดน
ส่วนยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์ ที่ระดับ 1.0634 ดอลลาร์ จากระดับ 1.0669 ดอลลาร์ และเงินปอนด์อ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 1.2190 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2400 ดอลลาร์
คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของเฟด (FOMC) มีมติเป็นเอกฉันท์ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น 0.50% สู่ระดับ 4.25-4.50% ในการประชุมเมื่อวันพุธที่ผ่านมา ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 15 ปี
ในการคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Dot Plot) เจ้าหน้าที่เฟดคาดว่าจะยังคงปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปในปี 2566 และจะไม่มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยจนกว่าจะถึงปี 2567 โดยเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสูงสุดสู่ระดับ 5.1% ในปีหน้า ซึ่งสูงกว่าคาดการณ์เดิมของตลาด และจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับดังกล่าวเป็นระยะเวลาหนึ่ง เพื่อจับตาดูผลกระทบของการคุมเข้มนโยบายการเงินที่มีต่อเศรษฐกิจสหรัฐ
ขณะที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) และธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในการประชุมเมื่อวานนี้ และส่งสัญญาณว่าจะเดินหน้าปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อไปเพื่อสกัดเงินเฟ้อ
สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจที่มีการเปิดเผยเมื่อคืนนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกลดลง 20,000 ราย สู่ระดับ 211,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งเป็นระดับต่ำที่สุดนับตั้งแต่เดือนก.ย. และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 230,000 ราย
ขณะที่รายงานของเฟดระบุว่า การผลิตภาคอุตสาหกรรมโดยรวมของสหรัฐลดลง 0.2% ในเดือนพ.ย. หลังจากปรับตัวลง 0.1% ในเดือนต.ค. โดยตัวเลขการผลิตภาคอุตสาหกรรมโดยรวมเป็นการวัดการปรับตัวของภาคโรงงาน, เหมืองแร่ และสาธารณูปโภค
นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ยอดค้าปลีกดิ่งลง 0.6% ในเดือนพ.ย. ซึ่งเป็นการร่วงลงมากที่สุดในรอบ 11 เดือน ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่าปรับตัวลงเพียง 0.1% หลังจากพุ่งขึ้น 1.3% ในเดือนต.ค.