ภาวะตลาดเงินนิวยอร์ก: ดอลล์แข็งค่ารับความเชื่อมั่นผู้บริโภค จับตาเงินเฟ้อสหรัฐ

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday December 22, 2022 07:13 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันพุธ (21 ธ.ค.) ขานรับดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐที่พุ่งขึ้นแข็งแกร่งในเดือนธ.ค. ขณะที่นักลงทุนจับตาการเปิดเผยดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ของสหรัฐในวันศุกร์นี้ โดยดัชนี PCE เป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ให้ความสำคัญ

ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.16% แตะที่ระดับ 104.1810

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 132.24 เยน จากระดับ 131.58 เยน แต่อ่อนค่าลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9262 ฟรังก์ จากระดับ 0.9266 ฟรังก์ และทรงตัวเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.3610 ดอลลาร์แคนาดา

ส่วนยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.0613 ดอลลาร์ จากระดับ 1.0617 ดอลลาร์ และเงินปอนด์อ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 1.2084 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2162 ดอลลาร์

ผลสำรวจของ Conference Board ซึ่งระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐดีดตัวขึ้นสู่ระดับ 108.3 ในเดือนธ.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนเม.ย. และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 100.5 จากระดับ 101.4 ในเดือนพ.ย. โดยดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคได้รับปัจจัยบวกจากการที่ผู้บริโภคคลายความกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อ

นักลงทุนจับตาการเปิดเผยดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ของสหรัฐในวันศุกร์นี้ ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่า ดัชนี PCE จะบ่งชี้ว่าอัตราเงินเฟ้อได้ผ่านจุดสูงสุดแล้ว

ผลการสำรวจนักวิเคราะห์คาดว่า ดัชนี PCE ทั่วไป ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน จะเพิ่มขึ้น 5.5% ในเดือนพ.ย. เมื่อเทียบรายปี ซึ่งชะลอตัวจากระดับ 6.0% ในเดือนต.ค. ส่วนดัชนี PCE พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน และเป็นมาตรวัดอัตราเงินเฟ้อที่เฟดให้ความสำคัญ คาดว่าจะปรับตัวขึ้น 4.7% ในเดือนพ.ย. เมื่อเทียบรายปี ซึ่งชะลอตัวจากระดับ 5.0% ในเดือนต.ค.

ทั้งนี้ ดัชนี PCE ถือเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่สามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภค และครอบคลุมราคาสินค้าและบริการในวงกว้างมากกว่าข้อมูลดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) จากกระทรวงแรงงานสหรัฐ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ