ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันพฤหัสบดี (26 ม.ค.) ขานรับขัอมูลเศรษฐกิจที่ดีเกินคาดของสหรัฐ ขณะที่นักลงทุนจับตาการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในสัปดาห์หน้า
ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.19% แตะที่ 101.8360
ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 130.21 เยน จากระดับ 129.56 เยน และแข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9198 ฟรังก์ จากระดับ 0.9178 ฟรังก์
นอกจากนี้ ดอลลาร์สหรัฐยังแข็งค่าเมื่อเทียบกับโครนาสวีเดน ที่ระดับ 10.2691 โครนา จากระดับ 10.2168 โครนา แต่อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.3334 ดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.3381 ดอลลาร์แคนาดา
ยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.0889 ดอลลาร์ จากระดับ 1.0914 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 1.2407 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2398 ดอลลาร์
กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยตัวเลขประมาณการ GDP ไตรมาส 4/2565 ครั้งที่ 1 โดยระบุว่า GDP ขยายตัว 2.9% สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ 2.8% หลังจากขยายตัว 3.2% ในไตรมาส 3 โดยได้แรงหนุนจากการใช้จ่ายของผู้บริโภคในช่วงสิ้นปี 2565
นอกเหนือจากตัวเลข GDP แล้ว ตลาดยังขานรับข้อมูลเศรษฐกิจด้านอื่น ๆ ของสหรัฐที่ออกมาดีเกินคาด ซึ่งรวมถึงยอดขายบ้านใหม่เพิ่มขึ้น 2.3% สู่ระดับ 616,000 ยูนิตในเดือนธ.ค. เมื่อเทียบรายเดือน ซึ่งเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 และยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนพุ่งขึ้น 5.6% ในเดือนธ.ค. ซึ่งดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเพียง 2.5%
นักลงทุนจับตาการเปิดเผยดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ประจำเดือนธ.ค.ของสหรัฐในวันนี้ โดยดัชนี PCE เป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่เฟดให้ความสำคัญ เนื่องจากสามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภค อีกทั้งมีความครอบคลุมราคาสินค้าและบริการในวงกว้างมากกว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI)
นอกจากนี้ นักลงทุนยังจับตาการประชุมนโยบายการเงินของเฟดในสัปดาห์หน้า ขณะที่นักลงทุนส่วนใหญ่คาดการณ์ว่า เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพียง 0.25% ในการประชุมวันที่ 31 ม.ค.-1 ก.พ. หลังดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) และดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ของสหรัฐบ่งชี้ว่าเงินเฟ้อของสหรัฐได้ผ่านจุดสูงสุดแล้ว