ดอลลาร์สหรัฐพุ่งขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันศุกร์ (3 ก.พ.) หลังสหรัฐเปิดเผยข้อมูลการจ้างงานที่แข็งแกร่งเกินคาด ซึ่งจะเป็นแรงหนุนให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป
ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน พุ่งขึ้น 1.13% แตะที่ระดับ 102.9340
ดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยนที่ระดับ 131.06 เยน จากระดับ 128.65 เยน, แข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิสที่ระดับ 0.9258 ฟรังก์ จากระดับ 0.9137 ฟรังก์ และแข็งค่าเมื่อเทียบดอลลาร์แคนาดาที่ระดับ 1.3398 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3329 ดอลลาร์แคนาดา นอกจากนี้ ดอลลาร์ยังแข็งค่าเมื่อเทียบกับโครนาสวีเดนที่ระดับ 10.5476 โครนา จากระดับ 10.3746 โครนา
ส่วนยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์ที่ระดับ 1.0803 ดอลลาร์ จากระดับ 1.0908 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 1.2054 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2231 ดอลลาร์
ดอลลาร์ได้แรงหนุนจากแนวโน้มที่เฟดจะเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปเพื่อสกัดเงินเฟ้อ หลังจากกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยในวันศุกร์ว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรพุ่งขึ้น 517,000 ตำแหน่งในเดือนม.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนก.ค. 2565 และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 185,000 ตำแหน่ง
ส่วนอัตราการว่างงานลดลงสู่ระดับ 3.4% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนพ.ค. 2512 และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 3.6% ขณะเดียวกัน ตัวเลขค่าจ้างรายชั่วโมงโดยเฉลี่ยของแรงงาน เพิ่มขึ้น 0.3% เมื่อเทียบรายเดือน สอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ และเพิ่มขึ้น 4.4% เมื่อเทียบรายปี สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 4.3%
ตัวเลขค่าจ้างรายชั่วโมงนับเป็นข้อมูลที่เฟดให้ความสำคัญเพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ภาวะเงินเฟ้อ
หลังการเปิดเผยตัวเลขการจ้างงานในวันนี้ FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนคาดว่า เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% อีก 2 ครั้ง ในการประชุมเดือนมี.ค. และเดือนพ.ค. สู่ระดับสูงสุดที่ 5.00-5.25% ก่อนที่เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับดังกล่าว
นอกจากนี้ สัญญาณบ่งชี้ภาวะเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของสหรัฐยังมาจากการที่สถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) เปิดเผยในวันศุกร์ว่า ดัชนีภาคบริการของสหรัฐดีดตัวขึ้นสู่ระดับ 55.2 ในเดือนม.ค. จากระดับ 49.2 ในเดือนธ.ค. โดยดัชนีที่อยู่เหนือระดับ 50 บ่งชี้ว่า ภาคบริการมีการขยายตัว