ดอลลาร์แข็งค่าเทียบสกุลเงินหลัก หลังสหรัฐเผยยอดค้าปลีกพุ่งเกินคาดในเดือนม.ค. ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนุนให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ
ณ เวลา 21.04 น.ตามเวลาไทย ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน บวก 0.63% สู่ระดับ 103.89 ขณะที่ดอลลาร์ดีดตัวขึ้น 0.46% สู่ระดับ 1.069 เทียบยูโร และแข็งค่า 0.62% สู่ระดับ 133.94 เยน
กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ยอดค้าปลีกพุ่งขึ้น 3% ในเดือนม.ค. สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 1.8% หลังจากดิ่งลง 1.1% ในเดือนธ.ค.
ยอดค้าปลีกได้รับแรงหนุนจากยอดขายรถยนต์ที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งยอดขายน้ำมันของสถานีบริการน้ำมัน
ส่วนยอดค้าปลีกพื้นฐาน ซึ่งไม่รวมยอดขายรถยนต์ น้ำมัน วัสดุก่อสร้าง และอาหาร เพิ่มขึ้น 1.7% ในเดือนม.ค. หลังจากลดลง 0.7% ในเดือนธ.ค.
นอกจากนี้ นักลงทุนคาดว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนานกว่าที่คาดไว้ หลังสหรัฐเปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้อที่สูงกว่าคาด
ล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนคาดว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% อีก 3 ครั้งในการประชุมเดือนมี.ค., พ.ค. และมิ.ย. สู่ระดับสูงสุดที่ 5.25-5.50% และคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับดังกล่าว ก่อนที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในเดือนธ.ค.
กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค ประจำเดือนม.ค.เมื่อวานนี้ โดยตัวเลข CPI ทุกรายการสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์
ทั้งนี้ ดัชนี CPI ทั่วไป ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 6.4% ในเดือนม.ค. เมื่อเทียบรายปี สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 6.2%
เมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี CPI ทั่วไปปรับตัวขึ้น 0.5% ในเดือนม.ค. สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 0.4%
ส่วนดัชนี CPI พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 5.6% ในเดือนม.ค. เมื่อเทียบรายปี สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 5.5%
เมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี CPI พื้นฐานปรับตัวขึ้น 0.4% ในเดือนม.ค. สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 0.3%