ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันพฤหัสบดี (30 มี.ค.) ตามทิศทางอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐที่ปรับตัวลง ขณะที่นักลงทุนจับตาการเปิดเผยดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ในวันนี้
ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลดลง 0.48% แตะที่ระดับ 102.1516
ดอลลาร์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 132.44 เยน จากระดับ 132.67 เยน และอ่อนค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9138 ฟรังก์ จากระดับ 0.9190 ฟรังก์
นอกจากนี้ ดอลลาร์สหรัฐยังอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.3519 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3570 ดอลลาร์แคนาดา และอ่อนค่าเมื่อเทียบกับโครนาสวีเดน ที่ระดับ 10.3649 โครนาสวีเดน จากระดับ 10.4090 โครนาสวีเดน
ส่วนยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.0904 ดอลลาร์ จากระดับ 1.0843 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 1.2388 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2314 ดอลลาร์
ดอลลาร์อ่อนค่าลง ตามทิศทางอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีที่ปรับตัวลงสู่ระดับ 3.562% และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 30 ปีที่ลดลงแตะระดับ 3.761% เมื่อคืนนี้
ทางการสหรัฐเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่อ่อนแอเมื่อคืนนี้ ซึ่งเป็นปัจจัยหนุนการคาดการณ์ที่ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย โดยกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกเพิ่มขึ้น 7,000 ราย สู่ระดับ 198,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 3 สัปดาห์ และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 195,000 ราย ซึ่งบ่งชี้ว่าตลาดแรงงานสหรัฐเริ่มคลายความร้อนแรง
ขณะที่กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยตัวเลขประมาณการครั้งที่ 3 สำหรับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประจำไตรมาส 4/2565 โดยระบุว่า GDP ขยายตัว 2.6% ต่ำกว่าตัวเลขประมาณการครั้งที่ 1 และ 2 ซึ่งมีการขยายตัว 2.9% และ 2.7% ตามลำดับ
นักลงทุนจับตาสหรัฐเปิดเผยดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ประจำเดือนก.พ.ในวันนี้ เวลา 19.30 น.ตามเวลาไทย โดยดัชนี PCE เป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่เฟดให้ความสำคัญ เพราะสามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภค และครอบคลุมราคาสินค้าและบริการในวงกว้างมากกว่าข้อมูลดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI)