ดอลลาร์อ่อนค่าเทียบสกุลเงินหลัก ก่อนการเปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐในคืนนี้ ซึ่งจะบ่งชี้ทิศทางอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)
ณ เวลา 19.11 น.ตามเวลาไทย ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลบ 0.09% สู่ระดับ 102.11 ขณะที่ดอลลาร์ร่วงลง 0.11% สู่ระดับ 1.092 เทียบยูโร และขยับขึ้น 0.07% สู่ระดับ 133.75 เยน
นอกจากนี้ ดอลลาร์ถูกกดดันจากการที่เจ้าหน้าที่เฟดส่งสัญญาณใกล้สิ้นสุดวงจรปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย
นายแพทริก ฮาร์เกอร์ ประธานเฟด สาขาฟิลาเดลเฟีย กล่าวว่า เฟดใกล้สิ้นสุดวงจรปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแล้ว ขณะที่นายออสแทน กูลส์บี ประธานเฟด สาขาชิคาโก กล่าวว่า เฟดควรใช้ความระมัดระวังเกี่ยวกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย หลังเกิดวิกฤตภาคธนาคาร
กระทรวงแรงงานสหรัฐจะเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค ประจำเดือนมี.ค.ในคืนนี้
ทั้งนี้ ผลการสำรวจนักวิเคราะห์คาดว่า ดัชนี CPI ทั่วไป (headline CPI) ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 5.2% ในเดือนมี.ค. เมื่อเทียบรายปี โดยชะลอตัวจากระดับ 6.0% ในเดือนก.พ.
อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์คาดว่า ดัชนี CPI พื้นฐาน (core CPI) ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน ดีดตัวขึ้น 5.6% ในเดือนมี.ค. เมื่อเทียบรายปี เพิ่มขึ้นจากระดับ 5.5% ในเดือนก.พ.
หากดัชนี CPI พื้นฐานดีดตัวแตะระดับ 5.6% ในเดือนมี.ค.ตามที่มีการคาดการณ์ไว้ ก็จะเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนก.ย.2565 ที่ดัชนี CPI พื้นฐานพุ่งขึ้นมากกว่าเดือนก่อนหน้า และเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2564 ที่ดัชนี CPI พื้นฐานดีดตัวขึ้นมากกว่าดัชนี CPI ทั่วไป
นอกจากนี้ นักลงทุนจับตารายงานการประชุมของเฟดประจำวันที่ 21-22 มี.ค.ที่จะมีการเปิดเผยในคืนนี้เช่นกัน โดยเฟดมีมติเป็นเอกฉันท์ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น 0.25% สู่ระดับ 4.75-5.00% ในการประชุมดังกล่าว พร้อมกับส่งสัญญาณใกล้ยุติวงจรปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย
ในการคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Dot Plot) เจ้าหน้าที่เฟดคาดว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสูงสุดสู่ระดับ 5.1% ในปีนี้ ซึ่งบ่งชี้ว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกเพียง 1 ครั้งในปีนี้