ดอลลาร์แข็งค่าเทียบสกุลเงินหลัก สอดคล้องกับการดีดตัวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ ท่ามกลางการคาดการณ์ที่ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะยังคงเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ
ณ เวลา 21.34 น.ตามเวลาไทย ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน บวก 0.03% สู่ระดับ 101.78 ขณะที่ดอลลาร์ดีดตัว 0.1% สู่ระดับ 1.097 เทียบยูโร และแข็งค่า 0.23% สู่ระดับ 134.40 เยน
FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 88.7% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 5.00-5.25% ในการประชุมวันที่ 2-3 พ.ค. และให้น้ำหนักเพียง 11.3% ที่เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 4.75-5.00%
นายราฟาเอล บอสติก ประธานเฟด สาขาแอตแลนตา กล่าวว่า เขาคาดว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 1 ครั้ง ก่อนที่จะพักการดำเนินการด้านดอกเบี้ยเพื่อพิจารณาถึงผลกระทบต่อเศรษฐกิจจากการที่เฟดใช้นโยบายคุมเข้มทางการเงิน
อย่างไรก็ดี นายบอสติกกล่าวว่า เฟดจะยังไม่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ เนื่องจากเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูง เมื่อเทียบกับเป้าหมายที่ระดับ 2% ของเฟด แม้เจ้าหน้าที่เฟดหลายรายระบุเตือนในการประชุมเดือนมี.ค.ว่าสหรัฐอาจเผชิญภาวะเศรษฐกิจถดถอยในปีนี้
ถ้อยแถลงดังกล่าวของนายบอสติกสวนทางคาดการณ์ของตลาด ซึ่งมองว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.50% ก่อนสิ้นปี 2566
นักลงทุนจับตาการเปิดเผยรายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจ หรือ Beige Book จากเฟดในคืนนี้เวลา 01.00 น.ตามเวลาไทย
ทั้งนี้ Beige Book เป็นรายงานซึ่งจะมีการเปิดเผยก่อนการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของเฟด (FOMC) เป็นเวลา 2 สัปดาห์ โดยเป็นการประเมินภาวะเศรษฐกิจจากเจ้าหน้าที่เฟดซึ่งประจำอยู่ใน 12 สาขาทั่วสหรัฐ
นอกจากนี้ Beige Book เป็นรายงานที่มีการรวบรวมข้อมูลจากมุมมองของผู้นำธุรกิจ รวมทั้งนักเศรษฐศาสตร์และนายธนาคารในภูมิภาค ทำให้ Beige Book สามารถสะท้อนภาวะเศรษฐกิจสหรัฐในวงกว้าง
ตลาดจับตาการรายงาน Beige Book ดังกล่าว ซึ่งจะบ่งชี้ภาวะเศรษฐกิจสหรัฐ หลังเผชิญวิกฤตภาคธนาคารในช่วงที่ผ่านมา
ขณะเดียวกัน นักลงทุนจับตาดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ที่จะมีการเปิดเผยในวันที่ 28 เม.ย. โดยดัชนีดังกล่าวเป็นข้อมูลเงินเฟ้อสำคัญตัวสุดท้ายก่อนที่เฟดจะจัดการประชุมนโยบายการเงินในวันที่ 2-3 พ.ค.
ทั้งนี้ ดัชนี PCE ถือเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่เฟดให้ความสำคัญ โดยสามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภค และครอบคลุมราคาสินค้าและบริการในวงกว้างมากกว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI)