ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันพฤหัสบดี (20 เม.ย.) หลังสหรัฐเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจที่อ่อนแอ ซึ่งอาจจะเป็นปัจจัยชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)
ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลดลง 0.12% แตะที่ระดับ 101.8493
ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 134.3440 เยน จากระดับ 134.7260 เยนในวันพุธ (19 เม.ย.), อ่อนค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิสที่ระดับ 0.8934 ฟรังก์ จากระดับ 0.8976 ฟรังก์ และอ่อนค่าเมื่อเทียบกับโครนาสวีเดน ที่ระดับ 10.3189 โครนา จากระดับ 10.3451 โครนา แต่ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.3472 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3462 ดอลลาร์แคนาดา
ยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.0963 ดอลลาร์ จากระดับ 1.0952 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 1.2440 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2438 ดอลลาร์
ดอลลาร์อ่อนค่าลงหลังสหรัฐเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่ซบเซา โดยกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกเพิ่มขึ้น 5,000 ราย สู่ระดับ 245,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว และสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 240,000 ราย
สมาคมนายหน้าอสังหาริมทรัพย์แห่งชาติของสหรัฐ (NAR) เปิดเผยว่า ยอดขายบ้านมือสองลดลง 2.4% สู่ระดับ 4.4 ล้านยูนิตในเดือนมี.ค. เมื่อเทียบรายเดือน และเมื่อเทียบรายปี ยอดขายบ้านดิ่งลง 22% ในเดือนมี.ค. โดยได้รับผลกระทบจากการพุ่งขึ้นของอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จำนอง
นักลงทุนจับตาการแสดงความเห็นของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด โดยขณะนี้เฟดใกล้จะเข้าสู่ช่วงงดเว้นการแสดงความเห็นเกี่ยวกับนโยบายการเงิน (Blackout Period) ในวันที่ 22 เม.ย. ก่อนที่เฟดจะจัดการประชุมกำหนดนโยบายในวันที่ 2-3 พ.ค. ซึ่งเป็นไปตามกฎระเบียบของเฟด
ล่าสุดนางลอเรตตา เมสเตอร์ ประธานเฟดสาขาคลีฟแลนด์ กล่าวว่า "อุปสงค์ยังคงสูงกว่าอุปทานทั้งในตลาดแรงงานและภาคการผลิต ขณะที่เงินเฟ้อยังคงอยู่สูงเกินไป ด้วยเหตุนี้เฟดยังคงต้องเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ และหนุนให้อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นดีดตัวขึ้นเหนือระดับ 5%"
อย่างไรก็ดี นางเมสเตอร์ระบุว่า วงจรการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่เฟดเริ่มต้นจากปีที่แล้ว กำลังใกล้ถึงจุดสิ้นสุดแล้ว