ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันศุกร์ (21 เม.ย.) ขณะที่ยูโรแข็งค่าขึ้นหลังการเปิดเผยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) เพิ่มขึ้นในยูโรโซน
ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลดลง 0.03% แตะที่ระดับ 101.8203 ยูโรแข็งค่าขึ้นแตะ 1.0976 ดอลลาร์ในวันศุกร์ จากระดับ 1.0963 ดอลลาร์ในวันพฤหัสบดี ขณะที่ปอนด์อ่อนค่าลงแตะ 1.2430 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 1.2440 ดอลลาร์สหรัฐในวันพฤหัสบดี
ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงแตะ 134.2030 เยนในวันศุกร์ จากระดับ 134.34 เยนในวันพฤหัสบดี, ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงแตะ 0.8931 ฟรังก์สวิส จากระดับ 0.8934 ฟรังก์สวิส และดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงแตะ 10.3126 โครนาสวีเดน จากระดับ 10.3189 โครนาสวีเดน แต่ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นแตะ 1.3548 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3472 ดอลลาร์แคนาดา
ยูโรแข็งค่าขึ้น หลังเอสแอนด์พี โกลบอล รายงานว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิตและบริการขั้นต้นของสหภาพยุโรป (อียู) อยู่ที่ 54.4 ในเดือนเม.ย. ทำสถิติสูงสุดในรอบ 11 เดือน เพิ่มขึ้นจากระดับ 53.7 ในเดือนมี.ค.
ดัชนีที่อยู่เหนือระดับ 50 บ่งชี้ว่า กิจกรรมภาคธุรกิจของอียูอยู่ในภาวะขยายตัว และตัวเลขดังกล่าวยังสูงกว่าที่โพลล์ของสำนักข่าวรอยเตอร์คาดไว้ว่าดัชนี PMI จะคงระดับเดิม
เอสแอนด์พี โกลบอล/ซีไอพีเอส รายงานว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิตและบริการขั้นต้นของอังกฤษอยู่ที่ 53.9 ในเดือนเม.ย. เพิ่มขึ้นจากระดับ 52.2 ในเดือนมี.ค. ส่งสัญญาณการเติบโตแข็งแกร่งที่สุดนับตั้งแต่เดือนเม.ย.ปีที่แล้ว
ดัชนีที่อยู่เหนือระดับ 50 บ่งชี้ว่า กิจกรรมภาคธุรกิจของอังกฤษอยู่ในภาวะขยายตัว และนับว่าเติบโตเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกันแล้ว และสูงกว่าที่โพลล์ของสำนักข่าวรอยเตอร์คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 52.5
ดอลลาร์ได้แรงหนุนในระยะสั้น ๆ หลังเอสแอนด์พี โกลบอลเปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิตและภาคบริการเบื้องต้นของสหรัฐ ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 53.5 ในเดือนเม.ย. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 11 เดือน จากระดับ 52.3 ในเดือนมี.ค. โดยดัชนี PMI อยู่สูงกว่าระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ว่าภาคธุรกิจของสหรัฐมีการขยายตัว โดยได้ขยายตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3
ดัชนี PMI ได้รับแรงหนุนจากการดีดตัวของการจ้างงานและคำสั่งซื้อใหม่ ขณะที่ความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจปรับตัวขึ้นเช่นกัน
ทั้งนี้ ดัชนี PMI ภาคการผลิตเบื้องต้น อยู่ที่ 50.4 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 6 เดือน จากระดับ 49.2 ในเดือนมี.ค. และดัชนี PMI ภาคบริการเบื้องต้น อยู่ที่ 53.7 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 12 เดือน จากระดับ 52.6 ในเดือนมี.ค.