ดอลลาร์แข็งค่าเทียบสกุลเงินหลัก ขณะที่นักลงทุนทุนยังคงคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนพ.ค. แม้เศรษฐกิจสหรัฐมีการขยายตัวต่ำกว่าคาดในไตรมาส 1/2566
ณ เวลา 22.32 น.ตามเวลาไทย ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน บวก 0.1% สู่ระดับ 101.56 ขณะที่ดอลลาร์ดีดตัว 0.14% สู่ระดับ 1.102 เทียบยูโร และแข็งค่า 0.22% สู่ระดับ 133.96 เยน
นอกจากนี้ ดอลลาร์ยังได้แรงหนุนจากการที่นักลงทุนพากันเข้าซื้อดอลลาร์ในฐานะสกุลเงินปลอดภัย ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับวิกฤตภาคธนาคาร
นักลงทุนยังคงเทน้ำหนักต่อคาดการณ์ที่ว่า เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในการประชุมเดือนพ.ค. แม้เศรษฐกิจสหรัฐมีการขยายตัวต่ำกว่าคาดในไตรมาส 1/2566
ล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 84.8% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 5.00-5.25% ในการประชุมวันที่ 2-3 พ.ค. และให้น้ำหนักเพียง 15.2% ที่เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 4.75-5.00%
กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยตัวเลขประมาณการครั้งที่ 1 สำหรับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประจำไตรมาส 1/2566 ในวันนี้ โดยระบุว่า เศรษฐกิจสหรัฐขยายตัวเพียง 1.1% ในไตรมาสดังกล่าว ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 2.0%
อย่างไรก็ดี ตัวเลขการขยายตัวดังกล่าว สอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ GDPNow ในแบบจำลองที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาแอตแลนตาเปิดเผยวานนี้ ซึ่งระบุว่า เศรษฐกิจสหรัฐขยายตัว 1.1% ในไตรมาส 1/2566
สำหรับในปี 2565 เศรษฐกิจสหรัฐหดตัว 1.6% ในไตรมาส 1 และ 0.6% ในไตรมาส 2 ทำให้สหรัฐเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิค ก่อนที่มีการขยายตัว 3.2% และ 2.6% ในไตรมาส 3 และ 4 ตามลำดับ
เมื่อพิจารณาตลอดทั้งปี 2565 เศรษฐกิจสหรัฐขยายตัว 2.1% หลังจากพุ่งแตะระดับ 5.9% ในปี 2564
นอกจากนี้ ตลาดจับตาดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ในวันพรุ่งนี้ โดยดัชนีดังกล่าวเป็นข้อมูลเงินเฟ้อสำคัญตัวสุดท้ายก่อนที่เฟดจะจัดการประชุมนโยบายการเงินในวันที่ 2-3 พ.ค.
ทั้งนี้ ดัชนี PCE ถือเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่เฟดให้ความสำคัญ โดยสามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภค และครอบคลุมราคาสินค้าและบริการในวงกว้างมากกว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI)