ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเล็กน้อยเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันพฤหัสบดี (27 เม.ย.) โดยได้แรงหนุนจากการที่นักลงทุนคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนพ.ค. แม้สหรัฐเปิดเผยตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 1 ที่ต่ำกว่าคาด
ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.03% แตะที่ระดับ 101.5015
ยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.1025 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1038 ดอลลาร์ในวันพุธ (26 เม.ย.) ขณะที่เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 1.2491 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2457 ดอลลาร์
ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 133.9500 เยน จากระดับ 133.52 เยนในวันพุธ และแข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.8940 ฟรังก์ จากระดับ 0.8906 ฟรังก์ แต่อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.3602 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3646 ดอลลาร์แคนาดา และอ่อนค่าเมื่อเทียบกับโครนาสวีเดน ที่ระดับ 10.2951 โครนา จากระดับ 10.3410 โครนา
กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยตัวเลขประมาณการครั้งที่ 1 สำหรับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประจำไตรมาส 1/2566 โดยระบุว่า เศรษฐกิจสหรัฐขยายตัวเพียง 1.1% ในไตรมาสดังกล่าว ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 2.0%
อย่างไรก็ดี นักลงทุนยังคงเทน้ำหนักต่อคาดการณ์ที่ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในการประชุมเดือนพ.ค. แม้เศรษฐกิจสหรัฐมีการขยายตัวต่ำกว่าคาดในไตรมาส 1/2566
ล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 84.8% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 5.00-5.25% ในการประชุมวันที่ 2-3 พ.ค. และให้น้ำหนักเพียง 15.2% ที่เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 4.75-5.00%
นักลงทุนจับตาการเปิดเผยดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) เดือนมี.ค.ของสหรัฐในวันนี้ โดยดัชนี PCE เป็นข้อมูลเงินเฟ้อสำคัญตัวสุดท้ายก่อนที่เฟดจะจัดการประชุมนโยบายการเงินในวันที่ 2-3 พ.ค.
ดัชนี PCE ถือเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่เฟดให้ความสำคัญ โดยสามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภค และครอบคลุมราคาสินค้าและบริการในวงกว้างมากกว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI)