"เจพีมอร์แกน" ซื้อกิจการ "เฟิร์สท์ รีพับลิก แบงก์" เรียบร้อย

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday May 1, 2023 20:13 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

เจพีมอร์แกน เชส แอนด์ โค ตกลงเข้าซื้อกิจการธนาคารเฟิร์สท์ รีพับลิก แบงก์ เป็นที่เรียบร้อย ส่งผลให้เจพีมอร์แกนซึ่งเป็นธนาคารรายใหญ่ที่สุดของสหรัฐมีขนาดใหญ่ยิ่งขึ้นไปอีก

นายเจมี ไดมอน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของเจพีมอร์แกน กล่าวว่า ความแข็งแกร่งทางการเงิน ศักยภาพ และรูปแบบธุรกิจของเจพีมอร์แกน ทำให้สามารถยื่นข้อเสนอซื้อในลักษณะที่ช่วยบรรเทาความเสียหายที่มีต่อบรรษัทรับประกันเงินฝากของรัฐบาลกลางสหรัฐ (FDIC) ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของเฟิร์สท์ รีพับลิก แบงก์

ภายใต้ข้อตกลงครั้งนี้ เจพีมอร์แกนได้เข้าครอบครองเงินฝาก 9.2 หมื่นล้านดอลลาร์ของเฟิร์สท์ รีพับลิก แบงก์ รวมถึงเงินกู้อีก 1.73 แสนล้านดอลลาร์ และหลักทรัพย์ 3 หมื่นล้านดอลลาร์

ทั้งนี้ เฟิร์สท์ รีพับลิก แบงก์ (FRB) เป็นธนาคารที่มุ่งเน้นการให้บริการไพรเวทแบงกิ้งแก่ผู้ที่มีฐานะร่ำรวย ก่อตั้งขึ้นในปี 2528 โดยนายจิม เฮอร์เบิร์ต ประธานบริษัท ด้วยพนักงานไม่ถึง 10 คน จนกระทั่งในเดือนก.ค. 2563 ธนาคาร FRB ได้รับการจัดอันดับให้เป็นธนาคารที่ใหญ่ที่สุดอันดับที่ 14 ในสหรัฐ โดยมีสำนักงาน 80 แห่ง ใน 7 รัฐ และเมื่อปลายปีที่แล้วก็มีการจ้างงานมากกว่า 7,200 คน

เช่นเดียวกับธนาคารอื่น ๆ ในระดับภูมิภาค FRB มีช่วงเวลาที่ยากลำบากเมื่อธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เพิ่มอัตราดอกเบี้ยเพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งส่งผลกระทบต่อมูลค่าของพันธบัตรและเงินกู้ยืมที่ FRB ได้ซื้อไปก่อนหน้านี้ในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยยังต่ำ ขณะเดียวกัน ลูกค้าก็แห่ถอนเงินออกจากธนาคาร ส่วนหนึ่งเป็นเพราะลูกค้าต้องการได้รับผลตอบแทนที่ดีกว่าจากที่อื่น และอีกส่วนหนึ่งเป็นเพราะกังวลเกี่ยวกับสถานะทางการเงินของธนาคาร

ผลก็คือ FRB ประสบปัญหาใหญ่เนื่องจากไม่มีเงินเพียงพอที่จะดำเนินกิจการต่อไปได้ แต่ก็ไม่มีใครอยากเข้ามาช่วยเหลืออย่างเต็มที่ ความกังวลเริ่มก่อตัวมากขึ้นในเดือนเม.ย.ที่ผ่านมาเมื่อ FRB รายงานผลประกอบการไตรมาสแรกและมีข่าวว่ากำลังพยายามขายสินทรัพย์บางส่วน ตลอดจนประกาศแผนการลดพนักงานมากถึง 25% ลดสินเชื่อคงค้าง และตัดกิจกรรมที่ไม่จำเป็นออก

ธนาคาร 11 แห่งในสหรัฐพยายามช่วย FRB โดยอัดฉีดเงินฝากใหม่จำนวน 3 หมื่นล้านดอลลาร์ในวันที่ 16 มี.ค. โดยเจพีมอร์แกน, แบงก์ ออฟ อเมริกา, ซิตี้กรุ๊ป และเวลส์ ฟาร์โก ต่างก็ทุ่มเงินรายละ 5 พันล้านดอลลาร์ ส่วนธนาคารอื่น ๆ เช่น โกลด์แมน แซคส์ และมอร์แกน สแตนลีย์ ให้เงินจำนวนน้อยกว่า โดยทั้งหมดนี้เป็นส่วนหนึ่งของแผนการที่จัดทำขึ้นร่วมกับหน่วยงานกำกับดูแลของสหรัฐ ยิ่งไปกว่านั้น FRB ยังได้รับความช่วยเหลือด้านสภาพคล่องจากคณะกรรมการธนาคารกลางสินเชื่อที่อยู่อาศัย (FHLB) และจากเฟดอีกด้วย

อย่างไรก็ดี ทั้งหมดที่กล่าวมาก็ไม่เพียงพอจะช่วย FRB ได้ โดยราคาหุ้นของธนาคารซึ่งเคยสูงถึง 170 ดอลลาร์ในเดือนมี.ค. ร่วงลงต่ำกว่า 5 ดอลลาร์ในช่วงปลายเดือนเม.ย. การล่มสลายของ FRB จะไม่เพียงส่งผลกระทบต่อผู้ถือหุ้นสามัญเท่านั้น แต่ยังรวมถึงหุ้นบุริมสิทธิมูลค่า 3.6 พันล้านดอลลาร์ และตั๋วเงินที่ไม่มีหลักประกันอีก 800 ล้านดอลลาร์อีกด้วย

อนึ่ง FRB ได้มีการเปลี่ยนมือเจ้าของมาหลายครั้งในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยในปี 2550 เมอร์ริล ลินช์ จ่ายเงิน 1.8 พันล้านดอลลาร์เพื่อซื้อกิจการ ต่อมากรรมสิทธิ์ตกเป็นของแบงก์ ออฟ อเมริกา ที่เข้าซื้อเมอร์ริล ลินช์ ในปี 2552 และเปลี่ยนมืออีกครั้งในช่วงกลางปี 2553 เมื่อบริษัทด้านการลงทุนหลักทรัพย์ เช่น เจเนอรัล แอตแลนติก และโคโลนี แคปิตอล เข้าซื้อ FRB ในราคา 1.86 พันล้านดอลลาร์แล้วเปลี่ยนให้เป็นบริษัทมหาชน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ