ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเล็กน้อยเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันจันทร์ (22 พ.ค.) โดยได้แรงหนุนจากการคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย
ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.0047% แตะที่ระดับ 103.1972
ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 138.5500 เยน จากระดับ 138.0760 เยนในวันศุกร์ (19 พ.ค.) และแข็งค่าเมื่อเทียบกับโครนาสวีเดน ที่ระดับ 10.5523 โครนา จากระดับ 10.5292 โครนา แต่ดอลลาร์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.8970 ฟรังก์ จากระดับ 0.8998 ฟรังก์ และอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.3507 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3509 ดอลลาร์แคนาดา
ยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.0819 ดอลลาร์ จากระดับ 1.0807 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 1.2442 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2448 ดอลลาร์
ดอลลาร์แข็งค่า หลังจากเจ้าหน้าที่เฟดสนับสนนุการเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย โดยล่าสุดนายเจมส์ บูลลาร์ด ประธานเฟดสาขาเซนต์หลุยส์กล่าวว่า "เฟดยังคงมีความจำเป็นที่จะต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.50% ในปีนี้ เนื่องจากเงินเฟ้อมีความเสี่ยงที่จะไม่ปรับตัวลง และตราบใดที่ตลาดแรงงานยังคงมีความแข็งแกร่ง ก็เป็นเรื่องสำคัญที่เราจะต้องมั่นใจว่าปัญหาเงินเฟ้อจะไม่กลับมาเกิดขึ้น และซ้ำรอยช่วงทศวรรษ 1970"
คำกล่าวของนายบูลลาร์ดสอดคล้องกับนายนีล แคชแครี ประธานเฟดสาขามินเนอาโพลิสซึ่งกล่าวว่า หากเฟดพักการขึ้นดอกเบี้ยในเดือนหน้า ไม่ได้หมายความว่าเฟดได้ยุติวงจรการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย แต่หมายความว่าเฟดกำลังรอข้อมูลมากขึ้น และหากเงินเฟ้อยังไม่ชะลอตัวลง เขาจะสนับสนุนให้เฟดขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป
นักลงทุนจับตาผลการเจรจารอบใหม่เกี่ยวกับการปรับเพิ่มเพดานหนี้ระหว่างปธน.ไบเดนและนายแมคคาร์ธี หลังจากการเจรจาระหว่างคณะทำงานของพรรครีพับลิกันและเดโมแครตในสัปดาห์ที่แล้วไม่มีความคืบหน้า โดยขณะนี้เหลือเวลาอีกเพียง 10 วันก่อนที่จะถึงกำหนดเส้นตายของการผิดนัดชำระหนี้
นอกจากนี้ นักลงทุนยังจับตาข้อมูลเศรษฐกิจของสหรัฐในสัปดาห์นี้ด้วย ซึ่งรวมถึงรายงานการประชุมประจำเดือนพ.ค.ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด), ตัวเลข GDP ไตรมาส 1/2566 (ประมาณการครั้งที่ 2) และดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) เดือนเม.ย.
ทั้งนี้ ดัชนี PCE เป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่เฟดให้ความสำคัญ เนื่องจากสามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภค และครอบคลุมราคาสินค้าและบริการในวงกว้างมากกว่าข้อมูลดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI)