ภาวะตลาดเงินนิวยอร์ก: ดอลล์แข็งค่า นลท.ซื้อสกุลเงินปลอดภัยหลังเจรจาเพดานหนี้ไม่คืบ

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday May 24, 2023 07:06 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันอังคาร (23 พ.ค.) เนื่องจากนักลงทุนเข้าซื้อดอลลาร์ซึ่งเป็นสกุลเงินปลอดภัย หลังจากการเจรจาปรับเพิ่มเพดานหนี้ระหว่างทำเนียบขาวและสภาคองเกรสยังไม่คืบหน้า

ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.28% แตะที่ระดับ 103.4864

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9013 ฟรังก์ จากระดับ 0.8970 ฟรังก์ในวันจันทร์ (22 พ.ค.) และแข็งค่าเมื่อเทียบกับโครนาสวีเดน ที่ระดับ 10.6239 โครนา จากระดับ 10.5523 โครนา แต่ดอลลาร์อ่อนค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 138.5240 เยน จากระดับ 138.5500 เยน และอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.3505 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3507 ดอลลาร์แคนาดา

ส่วนยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์ ที่ระดับ 1.0775 ดอลลาร์ จากระดับ 1.0819 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 1.2417 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2442 ดอลลาร์

นักลงทุนเข้าซื้อดอลลาร์ในฐานะสกุลเงินปลอดภัย หลังจากการเจรจาปรับเพิ่มเพดานหนี้รอบใหม่ระหว่างประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐ และนายเควิน แมคคาร์ธี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ ได้เสร็จสิ้นลงเมื่อวานนี้โดยที่ทั้งสองฝ่ายยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงกันได้ ซึ่งทำให้เกิดความวิตกกังวลว่าสหรัฐอาจจะผิดนัดชำระหนี้

สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐที่มีการเปิดเผยเมื่อคืนนี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐรายงานว่า ยอดขายบ้านใหม่เพิ่มขึ้น 4.1% สู่ระดับ 683,000 ยูนิตในเดือนเม.ย. เมื่อเทียบรายเดือน ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนมี.ค.2565 และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 665,000 ยูนิต จากระดับ 656,000 ยูนิตในเดือนมี.ค.

ขณะที่เอสแอนด์พี โกลบอลรายงานว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิตและภาคบริการเบื้องต้นของสหรัฐ พุ่งขึ้นสู่ระดับ 54.5 ในเดือนพ.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 13 เดือน จากระดับ 53.4 ในเดือนเม.ย. โดยดัชนี PMI อยู่เหนือระดับ 50 ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 ซึ่งบ่งชี้ว่าภาคธุรกิจของสหรัฐมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

นักลงทุนจับตารายงานการประชุมประจำเดือนพ.ค.ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ในสัปดาห์นี้ เพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ทิศทางอัตราดอกเบี้ยของเฟด

ทั้งนี้ ดัชนี PCE เป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่เฟดให้ความสำคัญ เนื่องจากสามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภค และครอบคลุมราคาสินค้าและบริการในวงกว้างมากกว่าข้อมูลดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI)


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ