ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันพฤหัสบดี (25 พ.ค.) เนื่องจากนักลงทุนยังคงเข้าซื้อดอลลาร์ในฐานะสกุลเงินปลอดภัย ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับการผิดนัดชำระหนี้ของสหรัฐ และล่าสุดฟิทช์ เรทติ้งส์ เตือนว่าอาจจะปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของสหรัฐ เนื่องจากการเจรจาปรับเพิ่มเพดานหนี้ยังคงยืดเยื้อ
ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.34% แตะที่ระดับ 104.2424
ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 139.9710 เยน จากระดับ 139.1400 เยนในวันพุธ (24 พ.ค.), แข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9063 ฟรังก์ จากระดับ 0.9051 ฟรังก์, แข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.3638 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3598 ดอลลาร์แคนาดา และแข็งค่าเมื่อเทียบกับโครนาสวีเดน ที่ระดับ 10.8328 โครนา จากระดับ 10.7255 โครนา
ยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.0722 ดอลลาร์ จากระดับ 1.0750 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 1.2318 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2361 ดอลลาร์
ความวิตกกังวลเกี่ยวกับการผิดนัดชำระหนี้ของสหรัฐยังคงเป็นปัจจัยหนุนแรงซื้อดอลลาร์ในฐานะสกุลเงินที่ปลอดภัย โดยล่าสุดฟิทช์ เรทติ้งส์ ประกาศให้เครดิตพินิจ (Rating Watch) ของสหรัฐเป็นเชิงลบ และเตือนว่าอาจจะปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของสหรัฐซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ AAA เนื่องจากการเจรจาปรับเพิ่มเพดานหนี้ยังไม่มีความคืบหน้า ซึ่งอาจจะส่งผลให้สหรัฐเผชิญกับการผิดนัดชำระหนี้ครั้งประวัติศาสตร์
"การให้เครดิตพินิจเป็นเชิงลบสะท้อนให้เห็นถึงความแตกแยกทางการเมืองที่ทำให้สหรัฐยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงการปรับเพิ่มเพดานหนี้ แม้ว่าขณะนี้ใกล้จะถึงกำหนดเส้นตายการผิดนัดชำระหนี้ในวันที่ 1 มิ.ย. หรือ "X-date" ฟิทช์เชื่อว่าความเสี่ยงในด้านต่าง ๆ จะทวีความรุนแรงมากขึ้น หากสหรัฐล้มเหลวในการปรับเพิ่มเพดานหนี้ก่อน X-date และผลที่ตามมาก็คือรัฐบาลสหรัฐจะไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามพันธกรณีทางกฎหมาย" ฟิทช์ระบุในแถลงการณ์
สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐที่มีการเปิดเผยเมื่อคืนนี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยตัวเลขประมาณการครั้งที่ 2 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประจำไตรมาส 1/2566 โดยระบุว่า GDP ขยายตัว 1.3% สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 1.1% และสูงกว่าตัวเลขประมาณการครั้งที่ 1 ที่ระดับ 1.1%
ทางด้านกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกเพิ่มขึ้น 4,000 ราย สู่ระดับ 229,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว แต่ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 245,000 ราย
นักลงทุนจับตาการเปิดเผยดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) เดือนเม.ย.ของสหรัฐในวันนี้ โดยดัชนี PCE เป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่เฟดให้ความสำคัญ เนื่องจากสามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภค และครอบคลุมราคาสินค้าและบริการในวงกว้างมากกว่าข้อมูลดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI)