ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ปรับตัวลงในวันนี้ ขณะที่นักลงทุนลดการถือครองดอลลาร์ในฐานะสกุลเงินปลอดภัย หลังคลายความกังวลเกี่ยวกับการผิดนัดชำระหนี้ของสหรัฐ
ณ เวลา 21.00 น.ตามเวลาไทย ดัชนีดอลลาร์ ลบ 0.07% สู่ระดับ 104.18 หลังพุ่งแตะระดับสูงสุดในรอบ 2 เดือนวานนี้
นายเควิน เฮิร์น แกนนำพรรครีพับลิกันในสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ กล่าวว่า เขามีความเชื่อมั่นว่า ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐ และนายเควิน แมคคาร์ธี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ จะบรรลุข้อตกลงในการขยายเพดานหนี้สหรัฐก่อนสุดสัปดาห์นี้
"เรากำลังใกล้ที่จะบรรลุข้อตกลง โดยพวกเขากำลังปรับแก้รายละเอียดเล็กๆน้อยๆ ซึ่งคุณอาจเห็นข้อตกลงในช่วงบ่ายของวันศุกร์ที่ 26 พ.ค." นายเฮิร์นกล่าว
คำกล่าวของนายเฮิร์นสอดคล้องกับรายงานของโกลด์แมน แซคส์ ซึ่งระบุว่า ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐ และนายเควิน แมคคาร์ธี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ ใกล้บรรลุข้อตกลงในการขยายเพดานหนี้สหรัฐ
"แม้เป็นเรื่องยากที่จะทำนายว่าทั้งสองฝ่ายจะมีการประกาศข้อตกลงเมื่อใด แต่เราคิดว่ามีความเป็นไปได้มากที่สุดที่จะมีการประกาศข้อตกลงกันในวันศุกร์ที่ 26 พ.ค. หรือวันเสาร์ที่ 27 พ.ค." รายงานระบุ
หากทั้งสองฝ่ายบรรลุข้อตกลงตามที่คาดการณ์ไว้ ก็จะทำให้สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐทำการลงมติต่อข้อตกลงดังกล่าวในวันอังคารที่ 30 พ.ค.หรือวันพุธที่ 31 พ.ค.
อย่างไรก็ดี ดอลลาร์ยังคงได้รับแรงหนุน หลังสหรัฐเปิดเผยดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ซึ่งบ่งชี้ว่าเงินเฟ้อยังคงดีดตัวขึ้น และจะเป็นปัจจัยหนุนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)
นักลงทุนเพิ่มน้ำหนักมากกว่า 50% ต่อคาดการณ์ที่ว่า เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนมิ.ย. หลังสหรัฐเปิดเผยดัชนี PCE ในวันนี้
ล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 57.4% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 5.25-5.50% ในการประชุมวันที่ 13-14 มิ.ย. และให้น้ำหนัก 42.6% ที่เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.00-5.25%
กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนี PCE ทั่วไป ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 4.4% ในเดือนเม.ย. เมื่อเทียบรายปี จากระดับ 4.2% ในเดือนมี.ค.
เมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี PCE ทั่วไป ปรับตัวขึ้น 0.4% ในเดือนเม.ย. จากระดับ 0.1% ในเดือนมี.ค.
ส่วนดัชนี PCE พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน และเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่เฟดให้ความสำคัญ ปรับตัวขึ้น 4.7% ในเดือนเม.ย. เมื่อเทียบรายปี สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 4.6% จากระดับ 4.6% ในเดือนมี.ค.
เมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี PCE พื้นฐานปรับตัวขึ้น 0.4% สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 0.3% จากระดับ 0.3% ในเดือนมี.ค.
ทั้งนี้ ดัชนี PCE ถือเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่สามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภค และครอบคลุมราคาสินค้าและบริการในวงกว้างมากกว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI)