ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันศุกร์ (26 พ.ค.) เนื่องจากนักลงทุนขายดอลลาร์ และเข้าซื้อสกุลเงินที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า ท่ามกลางความเชื่อมั่นเกี่ยวกับความคืบหน้าในการเจรจาข้อตกลงเพิ่มเพดานหนี้ของสหรัฐ
ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลดลง 0.04% แตะที่ระดับ 104.2036
ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับยูโร, ปอนด์, ฟรังก์สวิส, ดอลลาร์แคนาดา และโครนาสวีเดน แต่แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเยน
ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นแตะ 140.6220 เยนในวันศุกร์ (26 พ.ค.) เพิ่มขึ้นจากระดับ 139.9710 เยนในวันพฤหัสบดี (25 พ.ค.), ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงแตะ 0.9047 ฟรังก์สวิส จาก 0.9063 ฟรังก์สวิส, ดอลลาร์สหรัฐลดลงแตะ 1.3615 ดอลลาร์แคนาดา จาก 1.3638 ดอลลาร์แคนาดา และดอลลาร์สหรัฐลดลงแตะ 10.8130 โครนาสวีเดน จาก 10.3228 โครนาสวีเดน
ส่วนยูโรแข็งค่าขึ้นแตะ 1.0730 ดอลลาร์สหรัฐในวันศุกร์ จาก 1.0722 ดอลลาร์สหรัฐในวันพฤหัสบดี และปอนด์แข็งค่าแตะ 1.2350 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 1.2318 ดอลลาร์สหรัฐ
บรรดานักลงทุนพากันเข้าซื้อสินทรัพย์เสี่ยงที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าดอลลาร์ ขานรับความหวังเกี่ยวกับการทำข้อตกลงเรื่องเพดานหนี้ในสภาคองเกรสของสหรัฐ โดยตลาดหุ้นสหรัฐพุ่งขึ้นอย่างมากในวันศุกร์ โดยเฉพาะดัชนี Nasdaq ทะยานขึ้นมากกว่า 2% ในช่วงบ่ายวันศุกร์
ประธานาธิบดีโจ ไบเดนกล่าวว่า การเจรจาเรื่องเพดานหนี้มีความคืบหน้า
ดอลลาร์อ่อนค่าลง แม้สหรัฐเปิดเผยข้อมูลที่บ่งชี้ว่าเงินเฟ้อของสหรัฐปรับตัวขึ้น โดยกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ทั่วไป ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 4.4% ในเดือนเม.ย. เมื่อเทียบรายปี จากระดับ 4.2% ในเดือนมี.ค. และเมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี PCE ทั่วไป ปรับตัวขึ้น 0.4% ในเดือนเม.ย. จากระดับ 0.1% ในเดือนมี.ค.
ส่วนดัชนี PCE พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน และเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่เฟดให้ความสำคัญ ปรับตัวขึ้น 4.7% ในเดือนเม.ย. เมื่อเทียบรายปี สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 4.6% จากระดับ 4.6% ในเดือนมี.ค. และเมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี PCE พื้นฐานปรับตัวขึ้น 0.4% สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 0.3% จากระดับ 0.3% ในเดือนมี.ค.
ทั้งนี้ ดัชนี PCE ถือเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่สามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภค และครอบคลุมราคาสินค้าและบริการในวงกว้างมากกว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI)