ดอลลาร์อ่อนค่า หลังสหรัฐเผยตัวเลขจ้างงาน

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday June 2, 2023 20:36 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดอลลาร์อ่อนค่า หลังสหรัฐเปิดเผยตัวเลขจ้างงาน ซึ่งไม่ได้สร้างความกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อ ขณะที่นักลงทุนยังคงคาดว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนนี้

ณ เวลา 20.30 น.ตามเวลาไทย ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลบ 0.08% สู่ระดับ 103.48 ขณะที่ดอลลาร์อ่อนค่า 0.05% สู่ระดับ 1.077 เทียบยูโร และขยับขึ้น 0.15% สู่ระดับ 139.0 เยน

ล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 72.5% ที่เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.00-5.25% ในการประชุมวันที่ 13-14 มิ.ย. และให้น้ำหนักเพียง 27.5% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 5.25-5.50%

กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรพุ่งขึ้น 339,000 ตำแหน่งในเดือนพ.ค. สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 190,000 ตำแหน่ง

ตลาดขานรับตัวเลขการจ้างงานดังกล่าว เนื่องจากบ่งชี้ตลาดแรงงานที่แข็งแกร่ง โดยมีการจ้างงานเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 29

นอกจากนี้ ตัวเลขการจ้างงานในเดือนพ.ค.ใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ย 12 เดือน ซึ่งอยู่ที่ระดับ 341,000 ตำแหน่ง

ขณะเดียวกัน นักลงทุนคลายความกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อ หลังการเปิดเผยตัวเลขค่าจ้างรายชั่วโมง ซึ่งเป็นข้อมูลที่เฟดให้ความสำคัญเพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ภาวะเงินเฟ้อ

ทั้งนี้ ตัวเลขค่าจ้างรายชั่วโมงโดยเฉลี่ยของแรงงาน เพิ่มขึ้น 4.3% ในเดือนพ.ค. เมื่อเทียบรายปี ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 4.4%

เมื่อเทียบรายเดือน ค่าจ้างรายชั่วโมงโดยเฉลี่ยของแรงงาน เพิ่มขึ้น 0.3% สอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์

ทางด้านเจ้าหน้าที่เฟดยังคงส่งสัญญาณสนับสนุนให้เฟดระงับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนนี้

นายแพทริก ฮาร์เกอร์ ประธานเฟด สาขาฟิลาเดลเฟีย และนายฟิลิป เจฟเฟอร์สัน ว่าที่รองประธานเฟด เป็นเจ้าหน้าที่เฟด 2 รายล่าสุดซึ่งส่งสัญญาณสนับสนุนให้เฟดระงับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมรอบนี้

"ผมอยู่ในกลุ่มซึ่งคิดว่าเราควรระงับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมครั้งนี้" นายฮาร์เกอร์กล่าว

ส่วนนายเจฟเฟอร์สันกล่าวว่า "การระงับปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนมิ.ย.จะช่วยให้ FOMC เห็นข้อมูลมากขึ้น ก่อนที่จะทำการตัดสินใจเกี่ยวกับขอบเขตการใช้นโยบายคุมเข้มทางการเงินต่อไป"


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ