ภาวะตลาดเงินนิวยอร์ก: ดอลล์อ่อนค่า หลังข้อมูลศก.หนุนคาดการณ์เฟดเบรกขึ้นดบ.

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday June 6, 2023 07:14 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันจันทร์ (5 มิ.ย.) หลังจากสหรัฐเปิดเผยดัชนีภาคบริการชะลอตัวลงในเดือนพ.ค. ซึ่งทำให้ตลาดคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะระงับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนนี้

ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลดลง 0.01% แตะที่ระดับ 103.9990

ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 139.6130 เยน จากระดับ 139.9190 เยน และอ่อนค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9057 ฟรังก์ จากระดับ 0.9085 ฟรังก์ แต่ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.3437 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3430 ดอลลาร์แคนาดา และแข็งค่าเมื่อเทียบกับโครนาสวีเดน ที่ระดับ 10.8539 โครนา จากระดับ 10.8007 โครนา

ยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.0714 ดอลลาร์ จากระดับ 1.0713 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 1.2433 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2453 ดอลลาร์

สถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) รายงานว่า ดัชนีภาคบริการของสหรัฐปรับตัวลงสู่ระดับ 50.3 ในเดือนพ.ค. จากระดับ 51.9 ในเดือนเม.ย. ซึ่งต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 51.5 โดยดัชนีภาคบริการของ ISM ประกอบด้วยอุตสาหกรรม 17 กลุ่มซึ่งรวมถึงอสังหาริมทรัพย์ การขนส่ง การก่อสร้าง และเหมืองแร่

ข้อมูลดังกล่าวส่งผลให้นักลงทุนเทน้ำหนักให้กับการคาดการณ์ที่ว่า เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.00-5.25% ในการประชุมวันที่ 13-14 มิ.ย.นี้

นักลงทุนจับตานายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด ซึ่งมีกำหนดแถลงนโยบายการเงินต่อคณะกรรมการธนาคารของวุฒิสภาสหรัฐในวันที่ 22 มิ.ย.นี้ โดยการแถลงดังกล่าวนับเป็นครั้งที่ 2 ของปีนี้

สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐที่มีการเปิดเผยเมื่อคืนนี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า คำสั่งซื้อภาคโรงงานของสหรัฐเพิ่มขึ้น 0.4% ในเดือนเม.ย. หลังจากที่เพิ่มขึ้น 0.6% ในเดือนมี.ค. แต่ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น 0.8%

ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจด้านอื่น ๆ ที่มีกำหนดเปิดเผยในสัปดาห์นี้ได้แก่ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการเดือนพ.ค.จากจากเอสแอนด์พี โกลบอล, ดัชนีภาคบริการเดือนพ.ค.จากสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM), ยอดสั่งซื้อภาคโรงงานเดือนเม.ย., ดุลการค้าเดือนเม.ย. และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ