ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันอังคาร (13 มิ.ย.) หลังสหรัฐเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ต่ำสุดในรอบ 2 ปี ซึ่งทำให้ตลาดคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมวันที่ 13-14 มิ.ย.
ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลดลง 0.30% แตะที่ระดับ 103.3370
ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9059 ฟรังก์ จากระดับ 0.9096 ฟรังก์ในวันจันทร์ (12 มิ.ย.) ขณะเดียวกันก็อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.3311 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3371 ดอลลาร์แคนาดา และอ่อนค่าเมื่อเทียบกับโครนาสวีเดน ที่ระดับ 10.7138 โครนา จากระดับ 10.8117 โครนา แต่ดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 140.2840 เยน จากระดับ 139.5750 เยน
ส่วนยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.0790 ดอลลาร์ จากระดับ 1.0756 ดอลลาร์ และเงินปอนด์แข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 1.2602 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2505 ดอลลาร์
กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนี CPI ทั่วไป ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน เพิ่มขึ้น 4.0% ในเดือนพ.ค. เมื่อเทียบรายปี ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนมี.ค. 2564 จากระดับ 4.9% ในเดือนเม.ย. และสอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ โดยดัชนี CPI เป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค
ส่วนดัชนี CPI พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 5.3% ในเดือนพ.ค. เมื่อเทียบรายปี ชะลอตัวลงจากระดับ 5.5% ในเดือนเม.ย. และสอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์
ทั้งนี้ หลังจากสหรัฐเปิดเผยดัชนี CPI ประจำเดือนพ.ค. นักลงทุนเทน้ำหนักเกือบ 100% ที่เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.00-5.25% ในการประชุมวันที่ 13-14 มิ.ย.
นอกเหนือจากผลการประชุมเฟดแล้ว นักลงทุนยังรอดูข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐในสัปดาห์นี้ด้วย ซึ่งรวมถึงดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือนพ.ค., จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ยอดค้าปลีกเดือนพ.ค., ดัชนีภาคการผลิต (Empire State Manufacturing Index) เดือนมิ.ย.จากเฟดนิวยอร์ก, การผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนพ.ค. และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคขั้นต้นเดือนมิ.ย.จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน