ภาวะตลาดเงินนิวยอร์ก: ดอลลาร์อ่อนค่า หลังเฟดคงดอกเบี้ยตามคาด

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday June 15, 2023 06:52 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันพุธ (14 มิ.ย.) หลังจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยตามคาดในการประชุมครั้งล่าสุด

ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลดลง 0.07% แตะที่ระดับ 103.2667

ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 139.6670 เยน จากระดับ 140.2840 เยนในวันอังคาร (13 มิ.ย.) และอ่อนค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.8992 ฟรังก์ จากระดับ 0.9059 ฟรังก์ แต่ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.3313 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3311 ดอลลาร์แคนาดา และแข็งค่าเมื่อเทียบกับโครนาสวีเดน ที่ระดับ 10.7148 โครนา จากระดับ 10.7138 โครนา

ส่วนยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.0836 ดอลลาร์ จากระดับ 1.0790 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 1.2668 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2602 ดอลลาร์

คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ระดับ 5.00-5.25% ในการประชุมเมื่อวานนี้ ซึ่งเป็นไปตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้ หลังจากที่เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 10 ครั้งติดต่อกันนับตั้งแต่เฟดเริ่มวัฏจักรปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนมี.ค. 2565 ส่งผลให้เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยรวม 5.00%

อย่างไรก็ดี ในการคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Dot Plot) เจ้าหน้าที่เฟดส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% อีก 2 ครั้ง สู่ระดับ 5.50-5.75% ภายในสิ้นปีนี้

ส่วนการคาดการณ์เศรษฐกิจของสหรัฐนั้น เฟดปรับเพิ่มตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวสู่ระดับ 1.0% ในปีนี้ แต่ปรับลดตัวเลขคาดการณ์ในปี 2567 และ 2568 สู่ระดับ 1.1% และ 1.8% ตามลำดับ พร้อมกับปรับเพิ่มคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อสู่ระดับ 3.9% ในปีนี้ และอยู่ที่ 2.6% และ 2.2% ในปี 2567 และ 2568 ตามลำดับ

ทั้งนี้ หลังจากคณะกรรมการเฟดแถลงมติการประชุม นักลงทุนให้น้ำหนัก 63% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมครั้งต่อไปในวันที่ 25-26 ก.ค. ซึ่งเพิ่มขึ้นจากก่อนหน้านี้ที่ระดับ 60%

สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐที่มีการรายงานล่าสุด กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่าดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้ผลิต ปรับตัวขึ้น 1.1% ในเดือนพ.ค. เมื่อเทียบรายปี ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนธ.ค. 2563 และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 1.5% จากระดับ 2.3% ในเดือนเม.ย.

ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจด้านอื่น ๆ ที่จะมีการเปิดเผยในสัปดาห์นี้ได้แก่ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ยอดค้าปลีกเดือนพ.ค., ดัชนีภาคการผลิต (Empire State Manufacturing Index) เดือนมิ.ย.จากเฟดนิวยอร์ก, การผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนพ.ค. และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคขั้นต้นเดือนมิ.ย.จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ