ส่วนยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.1220 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1137 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 1.3129 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2991 ดอลลาร์
กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้ผลิต เพิ่มขึ้นเพียง 0.1% ในเดือนมิ.ย. เมื่อเทียบรายปี ซึ่งชะลอตัวลงจากเดือนพ.ค.ที่มีการขยายตัว 0.9% และเป็นการขยายตัวในอัตราต่ำสุดในรอบเกือบ 3 ปี หรือนับตั้งแต่เดือนส.ค. 2563
ข้อมูลดังกล่าวเป็นหลักฐานล่าสุดที่บ่งชี้ว่าแรงกดดันด้านเงินเฟ้อในสหรัฐกำลังอ่อนแรงลง หลังจากเมื่อวันพุธที่ผ่านมา สหรัฐเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ชะลอตัวลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบกว่า 2 ปี ซึ่งทำให้นักลงทุนมีความหวังว่า เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกเพียง 1 ครั้งในปีนี้ ก่อนที่จะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปีหน้า
ล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 92.4% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 5.25-5.50% ในการประชุมวันที่ 25-26 ก.ค. นอกจากนี้ นักลงทุนให้น้ำหนัก 42.2% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 5.00-5.25% ในการประชุมวันที่ 30-31 ม.ค. 2567 โดยให้น้ำหนักเพิ่มขึ้นจากระดับ 18.0% เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
สำหรับเปิดเผยข้อมูลแรงงานเมื่อคืนนี้ ซึ่งบ่งชี้ว่าตลาดแรงงานของสหรัฐยังคงอยู่ในภาวะตึงตัว โดยกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกลดลง 12,000 ราย สู่ระดับ 237,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 250,000 ราย