ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันศุกร์ (1 ก.ย.) หลังจากสหรัฐเปิดเผยดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐเพิ่มขึ้นในเดือนส.ค.
ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.60% แตะที่ระดับ 104.2294 ดอลลาร์แข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 146.1410 เยนในวันศุกร์ (1 ก.ย.) จากระดับ 145.4070 เยนในวันพฤหัสบดี (30 ส.ค.), ดอลลาร์แข็งค่าขึ้นแตะ 0.8853 ฟรังก์สวิส จาก 0.8830 ฟรังก์สวิส, ดอลลาร์แข็งค่าแตะ 1.3600 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3514 ดอลลาร์แคนาดา และดอลลาร์แข็งค่าแตะ 11.0397 โครนาสวีเดน จาก 10.9402 โครนาสวีเดน
ส่วนยูโรอ่อนค่าลงแตะ 1.0779 ดอลลาร์สหรัฐในวันศุกร์ (1 ก.ย.) จาก 1.0846 ดอลลาร์ในวันพฤหัสบดี และเงินปอนด์อ่อนค่าลงแตะ 1.2593 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 1.2665 ดอลลาร์
ดอลลาร์ดีดตัวขึ้น หลังสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) เปิดเผยในวันศุกร์ว่า ดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 47.6 ในเดือนส.ค. และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 47.0 จากระดับ 46.4 ในเดือนก.ค.
อย่างไรก็ดี ดัชนียังคงปรับตัวต่ำกว่าระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ภาวะหดตัวของภาคการผลิตสหรัฐ โดยเป็นการหดตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 10
อย่างไรก็ตาม ดอลลาร์อ่อนค่าลงในช่วงแรกโดยถูกกดดันจากการเปิดเผยข้อมูลการจ้างงานที่ชะลอตัวในสหรัฐ ซึ่งเพิ่มโอกาสที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะตรึงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมในเดือนก.ย.นี้
กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยในวันศุกร์ว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 187,000 ตำแหน่งในเดือนส.ค. สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 170,000 ตำแหน่ง ส่วนอัตราการว่างงานปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 3.8% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนก.พ.2565 และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 3.5%
ตัวเลขค่าจ้างรายชั่วโมงโดยเฉลี่ยของแรงงาน เพิ่มขึ้น 4.3% ในเดือนส.ค. เมื่อเทียบรายปี ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 4.4% และเมื่อเทียบรายเดือน ค่าจ้างรายชั่วโมงโดยเฉลี่ยของแรงงาน เพิ่มขึ้น 0.2% ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 0.3%
บรรดานักลงทุนเทน้ำหนักมากกว่า 90% ในการคาดการณ์ว่า เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนนี้ หลังการเปิดเผยรายงานการจ้างงานนอกภาคเกษตร