ดอลลาร์แข็งค่า สวนทางเศรษฐกิจจีน,ยุโรปอ่อนแอ

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday September 5, 2023 20:03 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดอลลาร์แข็งค่าเทียบสกุลเงินหลัก ขณะที่นักลงทุนซื้อดอลลาร์ในฐานะสกุลเงินปลอดภัย หลังการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจที่อ่อนแอของจีนและยุโรป

ณ เวลา 19.38 น.ตามเวลาไทย ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน บวก 0.54% สู่ระดับ 104.80 ขณะที่ดอลลาร์พุ่งขึ้น 0.69% สู่ระดับ 1.072 เทียบยูโร และแข็งค่า 0.68% สู่ระดับ 147.45 เยน

ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการของจีนร่วงลงสู่ระดับ 51.8 ในเดือนส.ค. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 8 เดือน โดยได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของอุปสงค์ ขณะที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลไม่สามารถผลักดันการบริโภคในประเทศ

ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิตและบริการขั้นสุดท้ายของยูโรโซนร่วงลงสู่ระดับ 46.7 ในเดือนส.ค. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนพ.ย.2563 และต่ำกว่าระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ภาวะหดตัวของกิจกรรมทางธุรกิจ โดยเป็นการหดตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3

นักลงทุนเทน้ำหนักมากกว่า 90% ในการคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนนี้ หลังการเปิดเผยรายงานการจ้างงานนอกภาคเกษตรเมื่อวันศุกร์

ล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 93.0% ที่เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.25-5.50% ในการประชุมวันที่ 19-20 ก.ย. และให้น้ำหนักเพียง 7.0% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 5.50-5.75%

นักลงทุนมองว่าอัตราการว่างงานที่พุ่งขึ้นในรายงานดังกล่าว รวมทั้งตัวเลขค่าจ้างรายชั่วโมงโดยเฉลี่ยของแรงงานที่ต่ำกว่าคาด ซึ่งบ่งชี้ถึงการชะลอตัวของเงินเฟ้อ จะเป็นปัจจัยหนุนให้เฟดยุติการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในวัฏจักรปัจจุบัน แม้ว่าตัวเลขการจ้างงานสูงกว่าคาด

ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 187,000 ตำแหน่งในเดือนส.ค. สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 170,000 ตำแหน่ง

ส่วนอัตราการว่างงานปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 3.8% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนก.พ.2565 และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 3.5%

นอกจากนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐยังได้ปรับตัวเลขการจ้างงานในเดือนก.ค. โดยปรับเป็นเพิ่มขึ้น 157,000 ตำแหน่ง จากเดิมรายงานว่าเพิ่มขึ้น 187,000 ตำแหน่ง

ขณะเดียวกัน ตัวเลขค่าจ้างรายชั่วโมงโดยเฉลี่ยของแรงงาน เพิ่มขึ้น 4.3% ในเดือนส.ค. เมื่อเทียบรายปี ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 4.4%

เมื่อเทียบรายเดือน ค่าจ้างรายชั่วโมงโดยเฉลี่ยของแรงงาน เพิ่มขึ้น 0.2% ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 0.3%

ทั้งนี้ ตัวเลขค่าจ้างรายชั่วโมงนับเป็นข้อมูลที่เฟดให้ความสำคัญเพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ภาวะเงินเฟ้อ

ส่วนตัวเลขอัตราการเข้าสู่ตลาดแรงงานของสหรัฐ ซึ่งแสดงสัดส่วนของกำลังแรงงานต่อจำนวนประชากรทั้งหมด อยู่ที่ระดับ 62.8% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนก.พ.2563


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ