ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันจันทร์ (11 ก.ย.) ขณะที่นักลงทุนจับตาการเปิดเผยข้อมูลเงินเฟ้อของสหรัฐในสัปดาห์นี้ เพื่อประเมินทิศทางอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)
ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลดลง 0.50% แตะที่ระดับ 104.5659
ดอลลาร์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 46.4880 เยน จากระดับ 147.8240 เยนในวันศุกร์ (8 ก.ย.) ขณะเดียวกันก็อ่อนค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.8909 ฟรังก์ จากระดับ 0.8933 ฟรังก์, อ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.3581 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3643 ดอลลาร์แคนาดา และอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับโครนาสวีเดน ที่ระดับ 11.0756 โครนา จากระดับ 11.1251 โครนา
ส่วนยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.0745 ดอลลาร์ จากระดับ 1.0698 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 1.2509 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2453 ดอลลาร์
ดอลลาร์อ่อนค่าลงอย่างมากเมื่อเทียบกับเงินเยน หลังจากนายคาซูโอะ อุเอดะ ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) กล่าวกับหนังสือพิมพ์โยมิอูริ ชิมบุนว่า BOJ อาจจะยุติการใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบ หาก BOJ พิจารณาแล้วเห็นว่าค่าจ้างมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องและทำให้ตัวเลขเงินเฟ้อปรับตัวขึ้นอย่างยั่งยืน
ทาเคชิ อิชิดะ นักวิเคราะห์ด้านปริวรรตเงินตราจากเรโซนา แบงก์กล่าวว่า "การแสดงความเห็นของผู้ว่าการ BOJ สะท้อนให้เห็นว่าเขาเริ่มมีมุมมองแบบสายเหยี่ยว (hawkish) และอาจเป็นการส่งสัญญาณว่า BOJ จะยุตินโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบในช่วงไตรมาสแรกของปี 2567"
นักลงทุนจับตาการเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ประจำเดือนส.ค.ของสหรัฐในวันพุธนี้ และดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือนส.ค.ในวันพฤหัสบดี โดยการเปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้อดังกล่าวมีขึ้นก่อนที่เฟดจะประชุมนโยบายการเงินในวันที่ 19-20 ก.ย.
นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ดัชนี CPI ทั่วไปซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน จะเพิ่มขึ้น 3.6% ในเดือนส.ค. เมื่อเทียบรายปี หลังจากที่เพิ่มขึ้น 3.2% ในเดือนก.ค. และคาดว่าดัชนี CPI พื้นฐานซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน จะเพิ่มขึ้น 4.3% ในเดือนส.ค. เมื่อเทียบรายปี หลังจากที่เพิ่มขึ้น 4.7% ในเดือนก.ค.