ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันพุธ (13 ก.ย.) หลังสหรัฐเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เพิ่มขึ้นสูงกว่าคาดในเดือนส.ค.
ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.06% แตะที่ระดับ 104.7727
ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 147.4540 เยน จากระดับ 147.1020 เยนในวันอังคาร (12 ก.ย.) ขณะเดียวกันก็แข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.8934 ฟรังก์ จากระดับ 0.8912 ฟรังก์, แข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.3564 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3556 ดอลลาร์แคนาดา และแข็งค่าเมื่อเทียบกับโครนาสวีเดน ที่ระดับ 11.1379 โครนา จากระดับ 11.1007 โครนา
ส่วนยูโรทรงตัวเมื่อเทียบกับดอลลาร์ ที่ระดับ 1.0732 ดอลลาร์ และเงินปอนด์แข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 1.2486 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2485 ดอลลาร์
กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนี CPI ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค ปรับตัวขึ้น 3.7% ในเดือนส.ค. เมื่อเทียบรายปี สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น 3.6% หลังจากที่เพิ่มขึ้น 3.2% ในเดือนก.ค. และเมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี CPI ปรับตัวขึ้น 0.6% ในเดือนส.ค. สอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ หลังจากที่เพิ่มขึ้น 0.2% ในเดือนก.ค.
ส่วนดัชนี CPI พื้นฐานซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 4.3% ในเดือนส.ค. เมื่อเทียบรายปี สอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ หลังจากที่เพิ่มขึ้น 4.7% ในเดือนก.ค. และเมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี CPI พื้นฐานปรับตัวขึ้น 0.3% ในเดือนส.ค. สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น 0.2% หลังจากที่เพิ่มขึ้น 0.2% ในเดือนก.ค.
ทั้งนี้ หลังสหรัฐเปิดเผยตัวเลข CPI ประจำเดือนส.ค. นักลงทุนให้น้ำหนัก 97% ที่เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.25-5.50% ในการประชุมวันที่ 19-20 ก.ย.นี้ แต่ให้น้ำหนักเพียง 61% ที่เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนพ.ย.
นักลงทุนจับตาข้อมูลเศรษฐกิจของสหรัฐในสัปดาห์นี้ โดยในวันนี้จะมีการเปิดเผยจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ยอดค้าปลีกเดือนส.ค. และดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือนส.ค. ส่วนในวันพรุ่งนี้จะเปิดเผยดัชนีภาคการผลิต (Empire State Manufacturing Index) เดือนก.ย.จากเฟดนิวยอร์ก, การผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนส.ค. และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคขั้นต้นเดือนก.ย.จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน