ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ปรับตัวขึ้นในวันนี้ ขานรับตัวเลขการจ้างงานที่แข็งแกร่งของสหรัฐ ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนุนให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ
ล่าสุด ดัชนีดอลลาร์ดีดตัวแตะระดับ 107.03 หลังจากพุ่งแตะ 107.16 ก่อนหน้านี้ ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนพ.ย.2565
สำนักงานสถิติของกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยผลสำรวจการเปิดรับสมัครงานและอัตราการหมุนเวียนของแรงงาน (JOLTS) พบว่า ตัวเลขการเปิดรับสมัครงาน ซึ่งเป็นมาตรวัดอุปสงค์ในตลาดแรงงาน พุ่งขึ้นเกือบ 700,000 ตำแหน่ง สู่ระดับ 9.61 ล้านตำแหน่งในเดือนส.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนเม.ย. และสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 8.8 ล้านตำแหน่ง
นอกจากนี้ ดอลลาร์ยังได้แรงหนุนจากการดีดตัวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ ซึ่งพุ่งแตะระดับสูงสุดในรอบกว่า 16 ปี
การแข็งค่าของดอลลาร์ส่งผลกระทบต่อสกุลเงินต่างๆ ทั่วโลก ทำให้อ่อนค่าลงแตะระดับต่ำสุดในรอบหลายเดือน ท่ามกลางการคาดการณ์ที่ว่า เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงเป็นเวลานานเพื่อสกัดเงินเฟ้อ
ทั้งนี้ ยูโรดิ่งลงแตะระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนธ.ค.2565 ในวันนี้, ปอนด์แตะระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนมี.ค.2566, ดอลลาร์ออสเตรเลียแตะระดับต่ำสุดในรอบ 11 เดือน ขณะที่ฟรังก์สวิสต่ำสุดในรอบ 6 เดือน
นอกจากนี้ สกุลเงินบาทของไทยร่วงทะลุ 37 บาท/ดอลลาร์ ทำสถิติต่ำสุดในรอบ 10 เดือนครึ่ง
ส่วนเยนใกล้หลุดระดับ 150 เยน/ดอลลาร์ ต่ำสุดในรอบเกือบ 1 ปี
นายชุนอิจิ ซูซูกิ รัฐมนตรีคลังญี่ปุ่น กล่าวในวันนี้ว่า รัฐบาลกำลังจับตาตลาดปริวรรตเงินตราอย่างใกล้ชิด และพร้อมดำเนินการเพื่อรักษาเสถียรภาพในตลาด
นอกจากนี้ นายซูซูกิระบุว่า การตัดสินใจแทรกแซงตลาดจะขึ้นอยู่กับความผันผวนในตลาด โดยไม่เกี่ยวข้องกับระดับของค่าเงินเยน
อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์ระบุว่า แม้ว่ารัฐบาลยืนยันว่าไม่ได้ให้ความสำคัญกับเยนที่ระดับใดเป็นพิเศษ แต่ที่ผ่านมา รัฐบาลญี่ปุ่นมักแทรกแซงตลาด หากเยนดิ่งลงแตะระดับ 150 เยน/ดอลลาร์
ในปีที่แล้ว กระทรวงการคลังญี่ปุ่นทุ่มเงินรวม 6.8 หมื่นล้านดอลลาร์ในการเข้าแทรกแซงตลาดในวันที่ 22 ก.ย., 21 ต.ค. และ 24 ต.ค. หลังจากที่เยนดิ่งทะลุระดับ 151 เยน/ดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 32 ปี หรือนับตั้งแต่ปี 2533