ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันพุธ (4 ต.ค.) หลังตัวเลขการจ้างงานภาคเอกชนของสหรัฐออกมาต่ำกว่าคาดการณ์ ซึ่งส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐปรับตัวลง และทำให้ตลาดคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจจะชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย
ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลดลง 0.18% แตะที่ระดับ 106.800
ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9170 ฟรังก์ จากระดับ 0.9211 ฟรังก์ในวันอังคาร (3 ต.ค.) และอ่อนค่าเมื่อเทียบกับโครนาสวีเดน ที่ระดับ 11.0701 โครนา จากระดับ 11.0918 โครนา แต่ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 149.0600 เยน จากระดับ 148.9180 เยนในวันอังคาร และแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.3745 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3710 ดอลลาร์แคนาดา
ส่วนยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.0503 ดอลลาร์ จากระดับ 1.0473 ดอลลาร์ในวันอังคาร และเงินปอนด์แข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 1.2137 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2085 ดอลลาร์
ออโตเมติก ดาต้า โพรเซสซิ่ง อิงค์ (ADP) เปิดเผยว่า การจ้างงานของภาคเอกชนสหรัฐเพิ่มขึ้นเพียง 89,000 ตำแหน่งในเดือนก.ย. ซึ่งต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 160,000 ตำแหน่ง และต่ำกว่าตัวเลขการจ้างงานที่เพิ่มขึ้น 180,000 ตำแหน่งในเดือนส.ค.
ข้อมูลดังกล่าวทำให้นักลงทุนคาดการณ์ว่า เฟดอาจจะชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และยังส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐอายุ 10 ปีชะลอตัวลงจากระดับสูงสุดในรอบ 16 ปี
สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจด้านอื่น ๆ ของสหรัฐที่มีการเปิดเผยเมื่อคืนนี้ สถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) รายงานว่า ดัชนีภาคบริการของสหรัฐปรับตัวลงสู่ระดับ 53.6 ในเดือนก.ย. สอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ จากระดับ 54.5 ในเดือนส.ค.
ทางด้านกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า คำสั่งซื้อภาคโรงงานของสหรัฐพุ่งขึ้น 1.2% ในเดือนส.ค. สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเพียง 0.2% หลังจากลดลง 2.1% ในเดือนก.ค.
นักลงทุนจับตาข้อมูลแรงงานของสหรัฐในสัปดาห์นี้ เพื่อประเมินทิศทางอัตราดอกเบี้ยของเฟด โดยในวันนี้ สหรัฐจะเปิดเผยจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ส่วนในวันศุกร์จะเปิดเผยตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนก.ย.
ทั้งนี้ นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรจะเพิ่มขึ้น 163,000 ตำแหน่งในเดือนก.ย. หลังจากที่เพิ่มขึ้น 187,000 ตำแหน่งในเดือนส.ค. และคาดว่าอัตราว่างงานเดือนก.ย.จะลดลงสู่ระดับ 3.7% จากระดับ 3.8% ในเดือนส.ค.