ภาวะตลาดเงินนิวยอร์ก: ดอลลาร์อ่อนค่า หลังบอนด์ยีลด์สหรัฐชะลอตัว

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday October 24, 2023 07:13 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันจันทร์ (23 ต.ค.) หลังจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐชะลอตัวลง ขณะที่นักลงทุนจับตาข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐในสัปดาห์นี้ เพื่อประเมินทิศทางอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)

ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลดลง 0.59% แตะที่ระดับ 105.5372

ยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.0674 ดอลลาร์ จากระดับ 1.0592 ดอลลาร์ในวันศุกร์ (20 ต.ค.) ขณะที่เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 1.2255 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2158 ดอลลาร์

ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 149.5640 เยน จากระดับ 149.8590 เยนในวันศุกร์ ขณะเดียวกันก็อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.3682 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3701 ดอลลาร์แคนาดา, อ่อนค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.8910 ฟรังก์ จากระดับ 0.8918 ฟรังก์ และอ่อนค่าเมื่อเทียบกับโครนาสวีเดน ที่ระดับ 10.9599 โครนา จากระดับ 10.9724 โครนา

ดอลลาร์อ่อนค่าลง หลังจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีชะลอตัวลงมาอยู่ที่ระดับ 4.85% เมื่อคืนนี้ หลังจากที่พุ่งขึ้นทะลุระดับ 5% ในช่วงก่อนหน้านี้

นักลงทุนจับตาความเคลื่อนไหวของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) หลังจากสื่อรายงานว่า ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) อาจจะทบทวนนโยบายผ่อนคลายการเงินแบบพิเศษ (Ultra-loose Monetary Policy) โดยอาจจะมีการปรับเพิ่มคาดการณ์เงินเฟ้อของญี่ปุ่นขึ้นสู่ระดับสูงกว่าเป้าหมาย 2% ติดต่อกันเป็นปีที่ 2 ในการประชุมนโยบายการเงินซึ่งจะมีขึ้นในช่วงปลายเดือนนี้ เพื่อปูทางสู่การยกเลิกนโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบ

นอกจากนี้ นักลงทุนจับตาข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐในสัปดาห์นี้ เพื่อประเมินทิศทางอัตราดอกเบี้ย ก่อนที่คณะกรรมการเฟดจะประชุมนโยบายการเงินในวันที่ 31 ต.ค. - 1 พ.ย. โดยในวันนี้จะมีการเปิดเผยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตและภาคบริการขั้นต้นเดือนต.ค.จากเอสแอนด์พี โกลบอล และในวันพุธสหรัฐจะเปิดเผยยอดขายบ้านใหม่เดือนก.ย.

ส่วนในวันพฤหัสบดี สหรัฐจะเปิดเผยจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 3/2566 (ประมาณการเบื้องต้น), ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือนก.ย. และยอดทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขาย (Pending Home Sales) เดือนก.ย. จากนั้นในวันศุกร์จะเปิดเผยดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) เดือนก.ย. และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนต.ค.จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ