ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันศุกร์ (27 ต.ค.) หลังสหรัฐเปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้อสอดคล้องคาดการณ์
ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลดลง 0.04% แตะที่ระดับ 106.5580
ดอลลาร์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเยน, ยูโร และโครนาสวีเดน แต่แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับปอนด์, ฟรังก์สวิสและดอลลาร์แคนาดา
ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงแตะ 149.5070 เยนในวันศุกร์ (27 ต.ค.) จาก 150.3720 เยนในวันพฤหัสบดี (26 ต.ค.), ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นแตะ 0.9015 ฟรังก์สวิส จาก 0.8990 ฟรังก์สวิส, ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นแตะ 1.3877 ดอลลาร์แคนาดาจาก 1.3813 ดอลลาร์แคนาดา และดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงแตะ 11.1569 โครนาสวีเดน จากระดับ 11.1600 โครนาสวีเดน
ส่วนยูโรแข็งค่าขึ้นแตะ 1.0568 ดอลลาร์สหรัฐในวันศุกร์ (27 ต.ค.) จากระดับ 1.0560 ดอลลาร์ในวันพฤหัสบดี (26 ต.ค.) ขณะที่เงินปอนด์ของอังกฤษอ่อนค่าลงแตะ 1.2114 ดอลลาร์สหรัฐในวันศุกร์ จากระดับ 1.2135 ดอลลาร์ในวันพฤหัสบดี
กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยในวันศุกร์ว่า ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ทั่วไป ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 3.4% ในเดือนก.ย. เมื่อเทียบรายปี สอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ หลังจากปรับตัวขึ้น 3.4% เช่นกันในเดือนส.ค. และเมื่อเทียบเป็นรายเดือน ดัชนี PCE ทั่วไป ปรับตัวขึ้น 0.4% ในเดือนก.ย. สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 0.3% หลังจากเพิ่มขึ้น 0.4% เช่นกันในเดือนส.ค.
ส่วนดัชนี PCE พื้นฐานซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน และเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ให้ความสำคัญ ปรับตัวขึ้น 3.7% ในเดือนก.ย. เมื่อเทียบเป็นรายปี สอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ หลังปรับตัวขึ้น 3.8% ในเดือนส.ค. และเมื่อเทียบเป็นรายเดือน ดัชนี PCE พื้นฐานปรับตัวขึ้น 0.3% สอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ หลังจากปรับตัวขึ้น 0.1% ในเดือนส.ค.
ทั้งนี้ ดัชนี PCE ถือเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่สามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภค และครอบคลุมราคาสินค้าและบริการในวงกว้างมากกว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI)
ส่วนผลสำรวจของมหาวิทยาลัยมิชิแกนที่เปิดเผยในวันศุกร์บ่งชี้ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐปรับตัวลงสู่ระดับ 63.8 ในเดือนต.ค. จากระดับ 68.1 ในเดือนก.ย. แต่สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 63.0
ผู้บริโภคลดความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันและแนวโน้มในอนาคต ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อ ขณะเดียวกัน ผู้บริโภคคาดการณ์ว่า เงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้น 4.2% ในช่วง 1 ปีข้างหน้า เพิ่มขึ้นจากตัวเลขเบื้องต้นที่ระดับ 3.8% และผู้บริโภคยังคาดการณ์ว่า เงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้น 3% ในช่วง 5 ปีข้างหน้า ไม่เปลี่ยนแปลงจากการสำรวจเดือนที่แล้ว
บรรดานักลงทุนจะจับตาการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในสัปดาห์หน้า โดยล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 99.5% ที่เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.25-5.50% ในการประชุมวันที่ 31 ต.ค.-1 พ.ย. และนักลงทุนยังให้น้ำหนัก 79.9% ที่เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.25-5.50% ในการประชุมวันที่ 12-13 ธ.ค. หลังจากที่ให้น้ำหนักเพียง 57.9% ในเดือนที่แล้ว