ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันพฤหัสบดี (2 พ.ย.) หลังจากตลาดคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้ยุติวงจรการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแล้ว ขณะที่นักลงทุนจับตาการเปิดเผยตัวเลขจ้างงานของสหรัฐในวันนี้
ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลดลง 0.71% แตะที่ระดับ 106.1285
ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 150.4220 เยน จากระดับ 150.9820 เยนในวันพุธ (1 พ.ย.), อ่อนค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9059 ฟรังก์ จากระดับ 0.9088 ฟรังก์, อ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.3751 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3873 ดอลลาร์แคนาดา และอ่อนค่าเมื่อเทียบกับโครนาสวีเดน ที่ระดับ 11.1124 โครนา จากระดับ 11.2053 โครนา
เงินปอนด์แข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์ ที่ระดับ 1.2204 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2132 ดอลลาร์ และยูโรแข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 1.0625 ดอลลาร์ จากระดับ 1.0542 ดอลลาร์
ดอลลาร์อ่อนค่าลง หลังจากนักลงทุนคาดการณ์ว่าเฟดได้ยุติวงจรการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแล้ว ภายหลังจากคณะกรรมการเฟดมีมติคงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ระดับ 5.25-5.50% ในการประชุมเมื่อวันพุธ ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 22 ปี และเป็นการคงอัตราดอกเบี้ยติดต่อกันเป็นครั้งที่ 2 หลังจากที่เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 11 ครั้งนับตั้งแต่ที่เริ่มวัฏจักรปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนมี.ค. 2565 ส่งผลให้เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยรวม 5.25%
นายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด ส่งสัญญาณในระหว่างการแถลงข่าวเมื่อวันพุธว่า เฟดอาจยุติวงจรการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดที่สุดในรอบ 40 ปี โดยนายพาวเวลรับรู้ถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมา และตระหนักว่าภาวะการเงินที่มีความตึงตัวมากขึ้นนั้นได้ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจและภาคครัวเรือน
ส่วนเงินปอนด์แข็งค่า หลังจากคณะกรรมการนโยบายการเงิน (MPC) ของธนาคารกลางอังกฤษ มีมติด้วยคะแนนเสียง 6-3 ในการคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.25% โดยกรรมการ MPC 3 รายสนับสนุนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 5.50%
แถลงการณ์ของ MPC ระบุว่า MPC จะยังคงใช้นโยบายการเงินแบบเข้มงวดต่อไปอีกระยะหนึ่ง และจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย หากมีหลักฐานบ่งชี้แรงกดดันที่เพิ่มขึ้นจากเงินเฟ้อ
สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐที่มีการรายงานเมื่อคืนนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกเพิ่มขึ้น 5,000 ราย สู่ระดับ 217,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 210,000 ราย
นักลงทุนจับตาการเปิดเผยตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรประจำเดือนต.ค.ของสหรัฐในวันนี้ เวลาประมาณ 19.30 น.ตามเวลาไทย
ทั้งนี้ นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ตัวเลขจ้างงานจะเพิ่มขึ้นเพียง 188,000 ตำแหน่งในเดือนต.ค. หลังจากพุ่งขึ้น 336,000 ตำแหน่งในเดือนก.ย. ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนม.ค. นอกจากนี้ คาดว่าอัตราว่างงานจะทรงตัวที่ระดับ 3.8% ในเดือนต.ค.