ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเล็กน้อยเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันพุธ (8 พ.ย.) ขณะที่นักลงทุนจับตาถ้อยแถลงของนายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เพื่อหาสัญญาณที่ชัดเจนมากขึ้นเกี่ยวกับทิศทางอัตราดอกเบี้ย หลังจากเจ้าหน้าที่เฟดหลายรายได้ออกมาส่งสัญญาณสนับสนุนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย
ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.05% แตะที่ 105.5946
ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 151.0440 เยน จากระดับ 150.4370 เยนในวันอังคาร (7 พ.ย.) และแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.3800 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3758 ดอลลาร์แคนาดา แต่ดอลลาร์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.8999 ฟรังก์ จากระดับ 0.9003 ฟรังก์ และอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับโครนาสวีเดน ที่ระดับ 10.9046 โครนา จากระดับ 10.9253 โครนา
ส่วนยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.0702 ดอลลาร์ จากระดับ 1.0694 ดอลลาร์ในวันอังคาร ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 1.2283 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2295 ดอลลาร์
นายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟดได้กล่าวสุนทรพจน์ในการประชุมวาระครบรอบ 100 ปีของการก่อตั้งแผนกสถิติและวิจัยของเฟดเมื่อคืนนี้ โดยนายพาวเวลไม่ได้ระบุถึงนโยบายการเงินของเฟดหรือแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐในการประชุมดังกล่าว
ส่วนในวันนี้ (9 พ.ย.) นายพาวเวลมีกำหนดกล่าวสุนทรพจน์ในงานเสวนา 24th Jacques Polak Annual Research Conference ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ในเวลา 14.00 น.ตามเวลาสหรัฐ หรือตรงกับวันศุกร์ที่ 10 พ.ย. เวลา 02.00 น.ตามเวลาไทย ในหัวข้อ "Monetary policy challenges in a global economy" หรือ "ความท้าทายของนโยบายการเงินในเศรษฐกิจโลก" ซึ่งในช่วงท้ายของงานเสวนาจะเป็นช่วงถาม-ตอบ โดยนายพาวเวลจะตอบคำถามเกี่ยวกับนโยบายการเงินของเฟดจากผู้เข้าร่วมการประชุมดังกล่าว
ในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่เฟดหลายคนได้ออกมาส่งสัญญาณสนับสนุนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย โดยเฉพาะอย่างยิ่งนางมิเชล โบว์แมน หนึ่งในสมาชิกคณะผู้ว่าการเฟดกล่าวว่า การที่ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 3/2566 ของสหรัฐขยายตัวถึง 4.9% ไม่เพียงแต่เป็นหลักฐานยืนยันว่าเศรษฐกิจสหรัฐยังคงแข็งแกร่งเท่านั้น แต่ยังส่งสัญญาณว่าเศรษฐกิจอาจจะขยายตัวเร็วขึ้นและทำให้เฟดจำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก