ดอลลาร์อ่อนค่าเทียบสกุลเงินหลัก สอดคล้องกับการปรับตัวลงของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ
ณ เวลา 20.53 น.ตามเวลาไทย ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลบ 0.12% สู่ระดับ 105.78 ขณะที่ดอลลาร์ร่วงลง 0.21% สู่ระดับ 1.069 เทียบยูโร และขยับขึ้น 0.01% สู่ระดับ 151.35 เยน
อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีพลิกย่อตัวลงต่ำกว่าระดับ 4.6% หลังดีดตัวขึ้นในช่วงแรก ขานรับถ้อยแถลงของนายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ซึ่งส่งสัญญาณเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ
"คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของเฟด (FOMC) มีความมุ่งมั่นในการบรรลุการใช้นโยบายการเงินที่มีความเข้มงวดเพียงพอที่จะทำให้เงินเฟ้อลดลงสู่ระดับ 2% แต่เรายังไม่มั่นใจว่าเราได้บรรลุจุดยืนดังกล่าว"
"หากเป็นการเหมาะสมที่จะคุมเข้มนโยบายมากขึ้น เราก็จะไม่ลังเลที่จะดำเนินการ แต่เราจะทำด้วยความระมัดระวัง โดยหลีกเลี่ยงความเสี่ยงในการคุมเข้มนโยบายการเงินมากไป และความเสี่ยงจากการเข้าใจผิดต่อข้อมูลที่ดีเพียงไม่กี่เดือน" นายพาวเวลกล่าววานนี้ในงานเสวนา 24th Jacques Polak Annual Research Conference ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF)
อย่างไรก็ดี นักลงทุนยังคงเทน้ำหนักในการคาดการณ์ว่า เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนธ.ค. แม้ว่านายพาวเวลส่งสัญญาณเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย
นอกจากนี้ นักลงทุนคาดว่าเฟดจะยังคงตรึงอัตราดอกเบี้ยต่อไป โดยไม่มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ก่อนที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเดือนมิ.ย.2567
ล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 85.4% ที่เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.25-5.50% ในการประชุมวันที่ 12-13 ธ.ค. และคาดว่าเฟดจะยังคงตรึงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.25-5.50% ในการประชุมเดือนม.ค.,มี.ค.และพ.ค.ของปี 2567 ก่อนที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 5.00-5.25% ในการประชุมเดือนมิ.ย.
ขณะเดียวกัน ดอลลาร์พุ่งแตะระดับ 151.43 เยนในวันนี้ ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบเกือบ 1 ปี ขานรับถ้อยแถลงของนายพาวเวล
นอกจากนี้ ดอลลาร์มีแนวโน้มดีดตัวขึ้น 1.39% เทียบเยนในสัปดาห์นี้ ซึ่งเป็นการพุ่งขึ้นรายสัปดาห์มากที่สุดนับตั้งแต่เดือนส.ค.
การอ่อนค่าอย่างหนักของเยนในวันนี้ ทำให้มีการคาดการณ์ว่ารัฐบาลญี่ปุ่นอาจเข้าแทรกแซงตลาดเพื่อสกัดการดิ่งลงของเยน
ทั้งนี้ ดอลลาร์ได้รับปัจจัยบวกจากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐและญี่ปุ่น จากการที่เฟดและธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ใช้นโยบายการเงินที่สวนทางกัน โดยเฟดจะยังคงคุมเข้มทางการเงินเพื่อสกัดเงินเฟ้อ ขณะที่ BOJ ใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงินเป็นพิเศษ
ในปีที่แล้ว กระทรวงการคลังญี่ปุ่นทุ่มเงินรวม 6.8 หมื่นล้านดอลลาร์ในการเข้าแทรกแซงตลาดในวันที่ 22 ก.ย., 21 ต.ค. และ 24 ต.ค. หลังจากที่เยนดิ่งทะลุระดับ 151 เทียบดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 32 ปี หรือนับตั้งแต่ปี 2533