ภาวะตลาดเงินนิวยอร์ก: ดอลลาร์อ่อนค่า เก็งดอกเบี้ยเฟดแตะระดับพีกแล้ว

ข่าวหุ้น-การเงิน Saturday November 25, 2023 08:37 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันศุกร์ (24 พ.ย.) เนื่องจากนักลงทุนคาดว่า อัตราดอกเบี้ยในสหรัฐอาจแตะระดับสูงสุดแล้ว ขณะที่เงินเยนแข็งค่าขึ้น หลังจากการเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานขยายตัวในญี่ปุ่น ซึ่งตอกย้ำการคาดการณ์ที่ว่า ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) อาจยกเลิกนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเป็นพิเศษในไม่ช้านี้

ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลดลง 0.38% แตะที่ระดับ 103.375 โดยดัชนีดอลลาร์ยังคงอยู่ใกล้ระดับต่ำสุดในรอบ 2 เดือนครึ่งที่ 103.17 ซึ่งเข้าทดสอบในช่วงต้นสัปดาห์

การซื้อขายสกุลเงินต่าง ๆ เป็นไปในช่วงแคบ ๆ และสภาพคล่องจะยังคงอ่อนแอ โดยตลาดเงินนิวยอร์กมีการซื้อขายเพียงครึ่งวันในวันศุกร์ หลังจากตลาดปิดทำการวันพฤหัสบดี (23 พ.ย.) เนื่องในวันขอบคุณพระเจ้า

ดัชนีดอลลาร์ร่วงลง 2.8% แล้วในเดือนนี้ และอาจร่วงลงรายเดือนมากที่สุดในรอบ 1 ปีท่ามกลางการคาดการณ์ที่ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้เสร็จสิ้นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแล้ว และอาจจะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปีหน้า

เงินเยนญี่ปุ่นทรงตัวที่ 149.57 เยนเมื่อเทียบกับดอลลาร์ โดยเยนปรับตัวขึ้นจากการที่ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของญี่ปุ่นปรับตัวขึ้นเล็กน้อยในเดือนต.ค. หลังจากลดลงในเดือนก.ย. ซึ่งได้ตอกย้ำการคาดการณ์ของนักลงทุนว่า ภาวะเงินเฟ้ออาจกระตุ้นให้ BOJ ยกเลิกนโยบายดอกเบี้ยติดลบ

ยูโรทรงตัวที่ 1.0909 ดอลลาร์ หลังการเปิดเผยข้อมูลบ่งชี้ว่า เศรษฐกิจเยอรมนีหดตัวลงเล็กน้อยในไตรมาส 3

ปอนด์แข็งค่าขึ้นเป็นวันที่ 2 ติดต่อกัน โดยปรับตัวขึ้น 0.2% สู่ระดับ 1.2559 ดอลลาร์ หลังจากการเปิดเผยข้อมูลเมื่อวันพฤหัสบดี (23 พ.ย.) บ่งชี้ว่า บรรดาบริษัทของอังกฤษกลับมามีการขยายตัวในเดือนพ.ย. ซึ่งเพิ่มความหวังว่าอังกฤษจะสามารถหลีกเลี่ยงภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้

ด้านเอสแอนด์พี โกลบอลเปิดเผยในวันศุกร์ว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิตและภาคบริการเบื้องต้นของสหรัฐ ทรงตัวที่ระดับ 50.7 ในเดือนพ.ย. โดยดัชนี PMI อยู่เหนือระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้การขยายตัวของภาคธุรกิจสหรัฐ

ดัชนี PMI ได้รับแรงหนุนจากการขยายตัวของคำสั่งซื้อใหม่ หลังจากหดตัวติดต่อกัน 3 เดือน แต่ถูกกดดันจากการจ้างงานที่ลดลงครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนมิ.ย.2563 ขณะที่ความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจปรับตัวขึ้นเล็กน้อย

อย่างไรก็ดี ดัชนี PMI ภาคการผลิตเบื้องต้น ปรับตัวลงสู่ระดับ 49.4 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 3 เดือน จากระดับ 50.0 ในเดือนต.ค. โดยดัชนี PMI ภาคการผลิตอยู่ต่ำกว่าระดับ 50.0 ซึ่งบ่งชี้ว่าภาคการผลิตอยู่ในภาวะหดตัว

ส่วนดัชนี PMI ภาคบริการเบื้องต้น ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 50.8 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 4 เดือน จากระดับ 50.6 ในเดือนต.ค. โดยดัชนี PMI ภาคบริการยังคงอยู่สูงกว่าระดับ 50.0 ซึ่งบ่งชี้ว่าภาคบริการมีการขยายตัว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ