ดอลลาร์อ่อนค่าเทียบสกุลเงินหลัก สวนทางการดีดตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ
ณ เวลา 22.59 น.ตามเวลาไทย ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลบ 0.13% สู่ระดับ 102.36 ขณะที่ดอลลาร์ร่วงลง 0.29% สู่ระดับ 1.095 เทียบยูโร และดีดตัว 0.98% สู่ระดับ 144.69 เยน
อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีดีดตัวใกล้แตะระดับ 4% ในวันนี้ หลังการเปิดเผยตัวเลขการจ้างงานของภาคเอกชนที่สูงกว่าคาด และตัวเลขผู้ขอสวัสดิการว่างงานต่ำกว่าคาด ซึ่งบ่งชี้ตลาดแรงงานที่แข็งแกร่ง และจะเป็นปัจจัยหนุนให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) คงอัตราดอกเบี้ยในระดับสูงนานกว่าคาด
ออโตเมติก ดาต้า โพรเซสซิ่ง อิงค์ (ADP) เปิดเผยว่า การจ้างงานของภาคเอกชนสหรัฐเพิ่มขึ้น 164,000 ตำแหน่งในเดือนธ.ค. สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 130,000 ตำแหน่ง หลังจากเพิ่มขึ้น 101,000 ตำแหน่งในเดือนพ.ย.
ทั้งนี้ การจ้างงานในเดือนธ.ค.ถือเป็นการจ้างงานสูงสุดนับตั้งแต่เดือนส.ค.
กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกลดลง 18,000 ราย สู่ระดับ 202,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว และต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 219,000 ราย
ส่วนตัวเลขค่าเฉลี่ย 4 สัปดาห์ของจำนวนชาวอเมริกันที่ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรก ซึ่งถือเป็นมาตรวัดตลาดแรงงานที่ดีกว่า เนื่องจากขจัดความผันผวนรายสัปดาห์ ลดลง 4,750 ราย สู่ระดับ 207,750 ราย
ขณะเดียวกัน กระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานว่า จำนวนชาวอเมริกันที่ยังคงขอรับสวัสดิการว่างงานต่อเนื่องลดลง 31,000 ราย สู่ระดับ 1.85 ล้านราย ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 1.87 ล้านราย
นอกจากนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐได้รับแรงหนุนจากถ้อยแถลงของนายโทมัส บาร์กิน ประธานเฟด สาขาริชมอนด์ และการเปิดเผยรายงานการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (FOMC) ประจำวันที่ 12-13 ธ.ค. ซึ่งทำให้นักลงทุนลดน้ำหนักต่อการคาดการณ์ที่ว่า เฟดจะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยอย่างเร็วที่สุดในเดือนมี.ค.2567
ล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนักเพียง 63.9% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 5.00-5.25% ในการประชุมวันที่ 19-20 มี.ค.2567 หลังจากที่เมื่อสัปดาห์ที่แล้วให้น้ำหนักมากถึง 72.8%
ทั้งนี้ นายบาร์กินส่งสัญญาณเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย แม้เงินเฟ้อชะลอตัวลง และระบุว่า ยังคงมีความเสี่ยงที่ว่าภารกิจของเฟดในการสกัดเงินเฟ้ออาจจะยังไม่สิ้นสุดลง
"อัตราดอกเบี้ยระยะยาวได้ปรับตัวลงในระยะนี้ และจะกระตุ้นอุปสงค์ในภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งมีความอ่อนไหวต่ออัตราดอกเบี้ย โดยอุปสงค์ที่แข็งแกร่งจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อที่อยู่สูงกว่าเป้าหมาย สิ่งนี้จึงทำให้การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปยังคงเป็นทางเลือกของเฟด" นายบาร์กินกล่าว
ส่วนรายงานการประชุม FOMC ประจำวันที่ 12-13 ธ.ค.ระบุว่า มีความเป็นไปได้ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปี 2567 แต่ก็ไม่มีการเปิดเผยกรอบเวลาที่ชัดเจนในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยดังกล่าว
ทั้งนี้ ในการประชุม FOMC ในเดือนธ.ค. ที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ในการตรึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 5.25-5.50% และกรรมการเฟดคาดการณ์ว่า จะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายรวม 0.75% ภายในสิ้นปี 2567
อย่างไรก็ตาม รายงานการประชุมบ่งชี้ว่า ยังคงมีความไม่แน่นอนอย่างมากว่า เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างไร และจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจริงหรือไม่
นักลงทุนจับตาตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรในวันพรุ่งนี้ ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้นเพียง 163,000 ตำแหน่งในเดือนธ.ค. หลังจากเพิ่มขึ้น 199,000 ตำแหน่งในเดือนพ.ย. นอกจากนี้ คาดว่าอัตราว่างงานจะเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 3.8% ในเดือนธ.ค. จากระดับ 3.7% ในเดือนพ.ย.