ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันพฤหัสบดี (1 ก.พ.) หลังจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐร่วงหลุดจากระดับ 4% นอกจากนี้ ดอลลาร์ยังถูกกดดันจากการคาดการณ์ที่ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจจะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนพ.ค.
ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลดลง 0.12% แตะที่ระดับ 103.278
FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 65.5% ที่เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.25-5.50% ในการประชุมเดือนมี.ค. และให้น้ำหนัก 62.0% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 5.00-5.25% ในการประชุมเดือนพ.ค.
ทั้งนี้ หากเฟดประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเดือนพ.ค.ก็จะเป็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งแรก หลังจากที่เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 11 ครั้งนับตั้งแต่ที่เริ่มวัฏจักรปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนมี.ค.2565 ส่งผลให้เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยรวม 5.25%
ทางด้านธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.25% ในการประชุมเมื่อวานนี้ ซึ่งสอดคล้องกับการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ และเป็นการตรึงอัตราดอกเบี้ยติดต่อกันเป็นครั้งที่ 4 หลังจากที่ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยติดต่อกัน 14 ครั้ง
นักลงทุนคาดการณ์ว่า BoE จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยอย่างเร็วที่สุดในเดือนพ.ค. โดยปรับลดลง 0.25% สู่ระดับ 5.00% และอัตราดอกเบี้ย ณ สิ้นปี 2567 จะอยู่ที่ระดับ 4.25%
นักลงทุนจับตาตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐในวันนี้ ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่เฟดใช้พิจารณานโยบายอัตราดอกเบี้ย โดยนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ตัวเลขจ้างงานเพิ่มขึ้น 173,000 ตำแหน่งในเดือนม.ค. ชะลอตัวจากระดับ 216,000 ตำแหน่งในเดือนธ.ค. นอกจากนี้ คาดว่าอัตราว่างงานจะเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 3.8% ในเดือนม.ค. จากระดับ 3.7% ในเดือนธ.ค.
สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจที่มีการเปิดเผยเมื่อคืนนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกเพิ่มขึ้น 9,000 ราย สู่ระดับ 224,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว และสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 213,000 ราย
สถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) เปิดเผยว่า ดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 49.1 ในเดือนม.ค. จากระดับ 47.1 ในเดือนธ.ค. และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 47.2 แต่ดัชนีอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 50 ซึ่งบ่งชี้ว่าภาคการผลิตสหรัฐอยู่ในภาวะหดตัว และเป็นการหดตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 15