ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันพฤหัสบดี (14 มี.ค.) โดยได้แรงหนุนจากการที่นักลงทุนมองว่าดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ของสหรัฐที่สูงเกินคาดอาจทำให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ตรึงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงเป็นเวลานานกว่าที่คาดการณ์ไว้
ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.55% แตะที่ระดับ 103.359
กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้ผลิต ปรับตัวขึ้น 1.6% ในเดือนก.พ. เมื่อเทียบรายปี สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 1.1% หลังจากที่เพิ่มขึ้น 1.0% ในเดือนม.ค.
ส่วนดัชนี PPI พื้นฐาน (Core PPI) ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 2.0% ในเดือนก.พ. เมื่อเทียบรายปี สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 1.9% หลังจากที่เพิ่มขึ้น 2.0% ในเดือนม.ค.
ทั้งนี้ ดัชนี PPI ที่ออกมาสูงเกินคาดทำให้นักลงทุนวิตกกังวลว่าเฟดอาจจะตรึงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงเป็นเวลานานกว่าที่คาดไว้ และยังส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีพุ่งขึ้นทะลุระดับ 4.2%
ล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 62.9% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในการประชุมเดือนมิ.ย. ซึ่งลดลงจากระดับ 81.7% ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ส่วนในการประชุมวันที่ 19-20 มี.ค.นี้ นักลงทุนคาดว่าเฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 5.25-5.50%
สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจด้านอื่น ๆ ที่มีการเปิดเผยเมื่อคืนนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกลดลง 1,000 ราย สู่ระดับ 209,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว และต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 218,000 ราย
กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ยอดค้าปลีกเพิ่มขึ้น 0.6% ในเดือนก.พ. เมื่อเทียบรายเดือน แต่ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 0.8% หลังจากร่วงลง 1.1% ในเดือนม.ค. และเมื่อเทียบรายปี ยอดค้าปลีกเพิ่มขึ้น 1.5% ในเดือนก.พ.