ดอลลาร์แข็งค่าเทียบสกุลเงินหลัก หลังการเปิดเผยดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐที่แข็งแกร่ง ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนุนให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) คงอัตราดอกเบี้ยในระดับสูงยาวนานกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้
ณ เวลา 21.46 น.ตามเวลาไทย ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน บวก 0.42% สู่ระดับ 104.99 ขณะที่ดอลลาร์แข็งค่า 0.48% สู่ระดับ 1.074 เทียบยูโร และปรับตัวขึ้น 0.24% สู่ระดับ 151.72 เยน
สถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) เปิดเผยว่า ดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 50.3 ในเดือนมี.ค. จากระดับ 47.8 ในเดือนก.พ. และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 48.1
ดัชนีได้รับแรงหนุนจากการเพิ่มขึ้นของการผลิตและการจ้างงาน
ดัชนีปรับตัวสูงกว่าระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ว่าภาคการผลิตสหรัฐมีการขยายตัว โดยเป็นการขยายตัวครั้งแรกในรอบ 17 เดือน
นอกจากนี้ ดอลลาร์แข็งค่าสอดคล้องกับการดีดตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ หลังการเปิดเผยดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐ และจากการที่นายคริสโตเฟอร์ วอลเลอร์ หนึ่งในสมาชิกบอร์ดผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) กล่าวในสัปดาห์ที่แล้วว่า เฟดไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเร่งปรับลดอัตราดอกเบี้ย จนกว่าจะมีความมั่นใจว่าเงินเฟ้อจะปรับตัวสู่ระดับ 2% อย่างยั่งยืน
ด้านนายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด กล่าวแสดงความเห็น หลังสหรัฐเปิดเผยดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ในวันศุกร์ว่า แม้ว่าดัชนี PCE สอดคล้องกับที่เฟดคาดการณ์ไว้ แต่เฟดก็จะใช้ความระมัดระวังก่อนที่จะทำการปรับลดอัตราดอกเบี้ย
"เราจำเป็นต้องเห็นความคืบหน้ามากขึ้นอีกเกี่ยวกับเงินเฟ้อก่อนที่จะทำการปรับลดอัตราดอกเบี้ย เนื่องจากการตัดสินใจเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยถือเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมาก ทำให้เราต้องใช้ความระมัดระวังในเรื่องนี้" นายพาวเวลกล่าว
นักลงทุนจับตาตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรที่จะมีการเปิดเผยในวันศุกร์ โดยนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ตัวเลขจ้างงานเพิ่มขึ้นเพียง 205,000 ตำแหน่งในเดือนมี.ค. ชะลอตัวจากระดับ 275,000 ตำแหน่งในเดือนก.พ. ขณะที่คาดว่าอัตราว่างงานทรงตัวที่ระดับ 3.9%