ธนาคารกลางอินโดนีเซีย (BI) เข้าแทรกแซงในตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ทั้งตลาดสปอตและตลาด NDF ในประเทศเพื่อพยุงค่าเงินรูเปีย หลังจากที่อ่อนค่าลงสู่จุดต่ำสุดในรอบ 4 ปี ท่ามกลางการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐ และการไหลออกของเงินลงทุนในพันธบัตรจำนวนมาก
สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า ในช่วงเช้าวันนี้ (2 เม.ย.) ค่าเงินรูเปียร่วงลงเกือบ 0.5% สู่ระดับ 15,963 รูเปียต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนเมษายน 2563 แต่หลังจากนั้น ณ เวลา 13.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น ซึ่งตรงกับเวลาในไทย เงินรูเปียฟื้นตัวขึ้นบางส่วน โดยลดช่วงลบสู่อ่อนค่าประมาณ 0.1% เมื่อเทียบกับดอลลาร์
นอกจากนี้ ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ (ม.ค.-มี.ค.) นักลงทุนทั่วโลกได้ถอนเงินลงทุนราว 1.7 พันล้านดอลลาร์ออกจากตลาดพันธบัตรอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นระดับเงินไหลออกมากที่สุดนับตั้งแต่ไตรมาส 3 ของปี 2565 (ก.ค.-ก.ย.)
นายเอดี ซูเซียนโต กรรมการผู้จัดการฝ่ายการเงินและการบริหารสินทรัพย์หลักทรัพย์ของธนาคารกลางอินโดนีเซียเผยว่า เงินรูเปียได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการอ่อนค่าของเงินหยวน รวมถึงความต้องการเงินดอลลาร์ที่แข็งแกร่งเพื่อเอาไปจ่ายเงินปันผลให้กับบริษัทแม่ในต่างประเทศ ตลอดจนเงินทุนต่างชาติไหลออกในตลาดพันธบัตร นอกจากนี้ ข้อมูลเงินเฟ้อที่สูงเกินคาดในเดือนมี.ค. ซึ่งเกิดจากต้นทุนอาหารที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ก็ส่งผลเงินรูเปียอ่อนค่าลงเช่นกัน
ทั้งนี้ เหล่าเทรดเดอร์มีความกังวลกันมากขึ้นว่าแผนการใช้จ่ายจำนวนมหาศาลของประธานาธิบดีปราโบโว ซูเบียนโต ที่เพิ่งชนะการเลือกตั้ง อาจสร้างภาระให้กับงบประมาณของอินโดนีเซีย โดยเฉพาะโครงการอาหารกลางวันฟรีและนมฟรีสำหรับเด็กนักเรียนมูลค่า 2.9 หมื่นล้านดอลลาร์ คาดว่าจะทำให้ประเทศมีงบประมาณขาดดุลมากยิ่งขึ้น และอาจส่งผลเสียต่อเครดิตเรตติ้งระดับกลุ่มระดับลงทุน (Investment-grade) ของอินโดนีเซีย
นายไบรอัน ตัน นักเศรษฐศาสตร์จากบาร์เคลย์ กล่าวว่า หากค่าเงินรูเปียยังคงอยู่ที่ระดับ 16,000 รูเปียต่อดอลลาร์ในระยะสั้น BI อาจพิจารณาขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.25% เป็น 6.25% ในการประชุมวันที่ 24 เม.ย.นี้ ขณะเดียวกัน นายตันกล่าวว่า แม้การปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยแบบนอกรอบการประชุมปกติจะเกิดขึ้นยาก แต่ก็ "ไม่ใช่เป็นไปไม่ได้เลย" เพราะเมื่อเดือนต.ค.ปีที่แล้ว BI ก็เคยประกาศขึ้นดอกเบี้ยชนิดช็อกตลาดมาแล้ว หลังเกิดการอ่อนค่าของเงินรูเปียเป็นเวลานาน
"เราเชื่อว่าการขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นทางเลือกหนึ่งที่ BI อาจจะนำมาใช้ เรายังไม่เห็นสัญญาณว่าธนาคารกลางฯ กังวลเกี่ยวกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจเป็นพิเศษ หรือมองเห็นความจำเป็นเร่งด่วนในการลดอัตราดอกเบี้ย" นายตันกล่าว
นายซูเซียนโตจาก BI แสดงความเชื่อมั่นว่าแรงกดดันต่อเงินรูเปียจะยังอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้และเป็นเพียงสถานการณ์ชั่วคราว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเนื่องจากผู้ส่งออกยังคงนำเงินตราต่างประเทศเข้ามาในตลาดอย่างเพียงพอ นอกจากนี้ BI ก็พร้อมที่จะเข้าแทรกแซงตลาดพันธบัตรโดยขึ้นอยู่กับสถานการณ์
ในปีนี้ นายเพอร์รี วาร์จิโย ผู้ว่าการ BI กล่าวไว้หลายครั้งว่า การแทรกแซงเงินตราและการจำหน่ายหลักทรัพย์ที่มีผลตอบแทนสูงจะเป็นเครื่องมือหลักในการพยุงค่าเงินรูเปีย ทั้งนี้ BI ได้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 6% เป็นเวลา 5 เดือนติดต่อกัน โดยมีสัญญาณจากนายวาร์จิโยว่าจะมีการคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับนี้ไว้อย่างน้อยจนถึงช่วงกลางปี