ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันพุธ (10 เม.ย.) หลังสหรัฐเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ที่สูงเกินคาด ซึ่งทำให้ตลาดคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงอาจทำให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ยังไม่ตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเดือนมิ.ย.
ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 1.05% แตะที่ระดับ 105.245 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 34 เดือน
กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนี CPI ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค ปรับตัวขึ้น 3.5% ในเดือนมี.ค. เมื่อเทียบรายปี สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 3.4% และสูงกว่าเดือนก.พ.ที่ปรับตัวขึ้น 3.2%
ส่วนดัชนี CPI พื้นฐาน (Core CPI) ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 3.8% ในเดือนมี.ค. เมื่อเทียบรายปี สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 3.7% หลังจากที่เพิ่มขึ้น 3.8% ในเดือนก.พ.
ดัชนี CPI ที่สูงเกินคาดส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐพุ่งขึ้นทะลุระดับ 4.5% และเป็นอีกปัจจัยที่ช่วยหนุนดัชนีดอลลาร์ทะยานขึ้นกว่า 1%
ดอลลาร์ยังได้รับปัจจัยหนุนจากรายงานการประชุมนโยบายการเงินของเฟดประจำวันที่ 19-20 มี.ค.ซึ่งระบุว่า กรรมการเฟดมีความกังวลว่าเงินเฟ้ออาจจะไม่ชะลอตัวลงสู่เป้าหมายของเฟดที่ระดับ 2% ในระยะเวลาอันใกล้ และแสดงความเห็นว่าเฟดอาจจำเป็นต้องตรึงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงเป็นเวลานานกว่าที่คาดการณ์ไว้
นักลงทุนได้เลื่อนการคาดการณ์ที่ว่าเฟดจะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกออกไปเป็นเดือนก.ย. โดยล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนักเพียง 16.5% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในการประชุมเดือนมิ.ย. ซึ่งลดลงอย่างมากจากระดับ 56% ก่อนที่สหรัฐจะเปิดเผยดัชนี CPI และให้น้ำหนัก 46.1% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในเดือนก.ย. หลังจากที่ให้น้ำหนักเพียง 33.7% ก่อนหน้านี้