ดอลลาร์แข็งค่าเทียบสกุลเงินหลัก สอดคล้องกับการดีดตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ
ณ เวลา 19.57 น.ตามเวลาไทย ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน บวก 0.11% สู่ระดับ 106.27 ขณะที่ดอลลาร์แข็งค่า 0.15% สู่ระดับ 1.064 เทียบยูโร และปรับตัวขึ้น 0.07% สู่ระดับ 154.74 เยน
อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐดีดตัวขึ้น ขณะที่นักลงทุนเทขายพันธบัตรในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย หลังคลายความกังวลเกี่ยวกับการทำสงครามระหว่างอิสราเอลและอิหร่าน
ทั้งนี้ ราคาพันธบัตรและอัตราผลตอบแทนพันธบัตรจะปรับตัวในทิศทางตรงกันข้ามกัน
ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เริ่มเข้าสู่ช่วงงดเว้นการแสดงความเห็นเกี่ยวกับนโยบายการเงิน (Blackout Period) ก่อนที่เฟดจะจัดการประชุมกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ในวันที่ 30 เม.ย.-1 พ.ค.
กฎระเบียบของเฟดได้ระบุห้ามเจ้าหน้าที่เฟดแสดงความเห็นหรือให้สัมภาษณ์ในช่วง Blackout Period เกี่ยวกับนโยบายการเงิน โดยเริ่มตั้งแต่วันเสาร์ที่สองก่อนที่การประชุม FOMC จะเริ่มขึ้น และสิ้นสุดในวันพฤหัสบดีหลังการประชุม FOMC เพื่อป้องกันไม่ให้สาธารณชนตีความว่าเป็นการบ่งชี้การดำเนินการด้านอัตราดอกเบี้ยของเฟดในการประชุมนโยบายการเงินที่จะมาถึง
ล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 96.1% ที่เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.25-5.50% ในการประชุมวันที่ 30 เม.ย.-1 พ.ค.
นอกจากนี้ นักลงทุนคาดว่าเฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.25-5.50% ในการประชุมเดือนมิ.ย.และก.ค. ก่อนที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 5.00-5.25% ในการประชุมเดือนก.ย.
ทั้งนี้ นักลงทุนเลื่อนคาดการณ์การปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในปีนี้ของเฟดเป็นเดือนก.ย. จากเดิมที่คาดไว้ในเดือนมิ.ย. หลังนายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด แสดงความกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อสหรัฐที่ยังคงอยู่ในระดับสูง
นักลงทุนจับตาการเปิดเผยดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ในวันศุกร์ ซึ่งจะบ่งชี้ทิศทางอัตราดอกเบี้ยสหรัฐ
ทั้งนี้ ดัชนี PCE เป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่เฟดให้ความสำคัญ เนื่องจากสามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภค และครอบคลุมราคาสินค้าและบริการในวงกว้างมากกว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI)