ดอลลาร์อ่อนค่า หลังเผยดัชนี PMI อ่อนแอ

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday April 23, 2024 22:04 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดอลลาร์อ่อนค่าเทียบสกุลเงินหลัก หลังการเปิดเผยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิตและภาคบริการเบื้องต้นของสหรัฐต่ำสุดในรอบ 4 เดือน

ณ เวลา 21.54 น.ตามเวลาไทย ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลบ 0.34% สู่ระดับ 105.72 ขณะที่ดอลลาร์ร่วงลง 0.42% สู่ระดับ 1.07 เทียบยูโร และอ่อนค่า 0.05% สู่ระดับ 154.76 เยน

เอสแอนด์พี โกลบอลเปิดเผยว่า ดัชนี PMI รวมภาคการผลิตและภาคบริการเบื้องต้นของสหรัฐ ปรับตัวลงสู่ระดับ 50.9 ในเดือนเม.ย. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 4 เดือน จากระดับ 52.1 ในเดือนมี.ค.

ดัชนี PMI ได้รับผลกระทบจากการปรับตัวลงของคำสั่งซื้อใหม่และการจ้างงาน ขณะที่ความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจแตะระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนพ.ย.2566

ดัชนี PMI ภาคการผลิตเบื้องต้น ปรับตัวลงสู่ระดับ 49.9 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 4 เดือน จากระดับ 51.9 ในเดือนมี.ค. โดยดัชนี PMI อยู่ต่ำกว่าระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ว่าภาคการผลิตอยู่ในภาวะหดตัว

ส่วนดัชนี PMI ภาคบริการเบื้องต้น ปรับตัวลงสู่ระดับ 50.9 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 5 เดือน จากระดับ 51.7 ในเดือนมี.ค. โดยดัชนี PMI อยู่สูงกว่าระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ว่าภาคบริการยังคงมีการขยายตัว

ตลาดจับตาท่าทีของรัฐบาลญี่ปุ่น หลังเยนใกล้แตะระดับสำคัญทางจิตวิทยาที่ 155 เยนต่อดอลลาร์

นายชุนอิจิ ซูซูกิ รัฐมนตรีคลังญี่ปุ่น กล่าวว่า ญี่ปุ่นจะใช้มาตรการที่เหมาะสมในการรับมือกับตลาดปริวรรตเงินตราที่มีความผันผวนมากเกินไป โดยญี่ปุ่นจะไม่ตัดทางเลือกใด ๆ ในการใช้มาตรการดังกล่าว

อย่างไรก็ดี หลายฝ่ายแสดงความไม่มั่นใจต่อการที่ญี่ปุ่นจะทำการแทรกแซงตลาดในระยะนี้ เนื่องจากธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) จะจัดการประชุมนโยบายการเงินในวันพฤหัสบดีนี้ ก่อนแถลงผลการประชุมในวันศกุร์

ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เริ่มเข้าสู่ช่วงงดเว้นการแสดงความเห็นเกี่ยวกับนโยบายการเงิน (Blackout Period) ก่อนที่เฟดจะจัดการประชุมกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ในวันที่ 30 เม.ย.-1 พ.ค.

ล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 99.7% ที่เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.25-5.50% ในการประชุมวันที่ 30 เม.ย.-1 พ.ค.

นอกจากนี้ นักลงทุนคาดว่าเฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.25-5.50% ในการประชุมเดือนมิ.ย.และก.ค. ก่อนที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 5.00-5.25% ในการประชุมเดือนก.ย.

ทั้งนี้ นักลงทุนเลื่อนคาดการณ์การปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในปีนี้ของเฟดเป็นเดือนก.ย. จากเดิมที่คาดไว้ในเดือนมิ.ย. หลังนายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด แสดงความกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อสหรัฐที่ยังคงอยู่ในระดับสูง

นักลงทุนจับตาการเปิดเผยดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ในวันศุกร์ ซึ่งจะบ่งชี้ทิศทางอัตราดอกเบี้ยสหรัฐ

ดัชนี PCE เป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่เฟดให้ความสำคัญ เนื่องจากสามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภค และครอบคลุมราคาสินค้าและบริการในวงกว้างมากกว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI)

นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ดัชนี PCE ทั่วไป (Headline PCE) ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 2.6% ในเดือนมี.ค. เมื่อเทียบรายปี จากระดับ 2.5% ในเดือนก.พ.

เมื่อเทียบรายเดือน คาดว่าดัชนี PCE ทั่วไป ปรับตัวขึ้น 0.3% ในเดือนมี.ค. จากระดับ 0.3% เช่นกันในเดือนก.พ.

ส่วนดัชนี PCE พื้นฐาน (Core PCE) ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน คาดว่าปรับตัวขึ้น 2.6% ในเดือนมี.ค. เมื่อเทียบรายปี จากระดับ 2.8% ในเดือนก.พ.

เมื่อเทียบรายเดือน คาดว่าดัชนี PCE พื้นฐานปรับตัวขึ้น 0.3% ในเดือนมี.ค. จากระดับ 0.3% เช่นกันในเดือนก.พ.


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ