ดอลลาร์อ่อนค่าเทียบสกุลเงินหลัก หลังการเปิดเผยตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรที่ต่ำกว่าคาด ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนุนการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)
ณ เวลา 20.09 น.ตามเวลาไทย ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลบ 0.47% สู่ระดับ 104.81 ขณะที่ดอลลาร์ร่วงลง 0.55% สู่ระดับ 1.078 เทียบยูโร และอ่อนค่า 0.73% สู่ระดับ 152.51 เยน
กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้นเพียง 175,000 ตำแหน่งในเดือนเม.ย. ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 238,000 ตำแหน่ง
ส่วนอัตราการว่างงานปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 3.9% สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 3.8%
นอกจากนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐได้ปรับตัวเลขการจ้างงานในเดือนมี.ค. โดยปรับเป็นเพิ่มขึ้น 315,000 ตำแหน่ง จากเดิมรายงานว่าเพิ่มขึ้น 303,000 ตำแหน่ง
ทั้งนี้ ภาคเอกชนมีการจ้างงาน 167,000 ตำแหน่ง ขณะที่ภาครัฐมีการจ้างงาน 8,000 ตำแหน่ง
ขณะเดียวกัน ตัวเลขค่าจ้างรายชั่วโมงโดยเฉลี่ยของแรงงาน เพิ่มขึ้น 3.9% ในเดือนเม.ย. เมื่อเทียบรายปี ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ระดับ 4.0%
เมื่อเทียบรายเดือน ค่าจ้างรายชั่วโมงโดยเฉลี่ยของแรงงาน เพิ่มขึ้น 0.2% ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ระดับ 0.3%
ทั้งนี้ ตัวเลขค่าจ้างรายชั่วโมงนับเป็นข้อมูลที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ให้ความสำคัญเพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ภาวะเงินเฟ้อ
นอกจากนี้ ดอลลาร์ถูกกดดันจากการแข็งค่าของเยนในสัปดาห์นี้
เยนมีแนวโน้มทำสถิติพุ่งขึ้นในสัปดาห์นี้มากสุดในรอบกว่า 1 ปี โดยได้แรงหนุนจากการแทรกแซงตลาดของทางการญี่ปุ่นเพื่อพยุงค่าเงินเยนจากระดับต่ำสุดในรอบ 34 ปี
ทั้งนี้ เยนดีดตัวแตะระดับ 152.895 เยน/ดอลลาร์ในวันนี้ โดยทะยานขึ้นมากกว่า 3% ในสัปดาห์นี้ ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นรายสัปดาห์มากที่สุดนับตั้งแต่เดือนธ.ค.2565
ข้อมูลจากธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ระบุว่า รัฐบาลญี่ปุ่นได้ทำการแทรกแซงตลาดในสัปดาห์นี้เพื่อพยุงค่าเงินเยน ด้วยการเข้าซื้อเยนและเทขายดอลลาร์ คิดเป็นวงเงิน 9.16 ล้านล้านเยน หรือ 5.979 หมื่นล้านดอลลาร์ หลังจากเยนดิ่งลงแตะระดับ 160.24 เยน/ดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 34 ปี
การแทรกแซงตลาดดังกล่าว ส่งผลให้เยนแข็งค่าขึ้นเกือบ 8 เยนเทียบดอลลาร์นับตั้งแต่ต้นสัปดาห์นี้