ภาวะตลาดเงินนิวยอร์ก: ดอลล์อ่อนค่าตามทิศทางบอนด์ยีลด์ จับตาเงินเฟ้อสหรัฐ

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday May 14, 2024 07:24 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันจันทร์ (13 พ.ค.) โดยดอลลาร์ปรับตัวตามทิศทางอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐที่ชะลอตัวลง ก่อนที่สหรัฐจะเปิดเผยข้อมูลเงินเฟ้อในสัปดาห์นี้

ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลดลง 0.08% แตะที่ 105.217

ยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.0790 ดอลลาร์ จากระดับ 1.0774 ดอลลาร์ในวันศุกร์ (10 พ.ค.) ขณะที่เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 1.2558 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2528 ดอลลาร์

ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.3670 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3673 ดอลลาร์แคนาดา แต่ดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 156.20 เยน จากระดับ 155.84 เยน และแข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9081 ฟรังก์ จากระดับ 0.9063 ฟรังก์

สหรัฐจะเปิดเผยดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ในวันนี้ (14 พ.ค.) และจะเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ในวันพุธที่ 15 พ.ค. ขณะที่นักวิเคราะห์ในโพลสำรวจของสำนักข่าวรอยเตอร์คาดการณ์ว่า ดัชนี CPI ทั่วไปซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน จะเพิ่มขึ้น 3.4% ในเดือนเม.ย. เมื่อเทียบรายปี หลังจากที่เพิ่มขึ้น 3.5% ในเดือนมี.ค. และเมื่อเทียบเป็นรายเดือน คาดว่าดัชนี CPI ทั่วไปจะปรับตัวขึ้น 0.4% ในเดือนเม.ย. หลังจากที่เพิ่มขึ้น 0.4% ในเดือนมี.ค.เช่นกัน

ส่วนดัชนี CPI พื้นฐาน (Core CPI) ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน คาดว่าจะปรับตัวขึ้น 3.6% ในเดือนเม.ย. เมื่อเทียบรายปี หลังจากที่เพิ่มขึ้น 3.8% ในเดือนมี.ค. และเมื่อเทียบเป็นรายเดือน คาดว่าดัชนี CPI พื้นฐานจะปรับตัวขึ้น 0.3% ในเดือนเม.ย. หลังจากที่เพิ่มขึ้น 0.4% ในเดือนมี.ค.

นอกเหนือจากตัวเลขเงินเฟ้อแล้ว นักลงทุนยังจับตาข้อมูลเศรษฐกิจด้านอื่น ๆ ของสหรัฐในสัปดาห์นี้ด้วย ซึ่งรวมถึงดัชนีความเชื่อมั่นของธุรกิจขนาดย่อมเดือนเม.ย.จากสหพันธ์ธุรกิจอิสระแห่งชาติสหรัฐ (NFIB), ยอดค้าปลีกเดือนเม.ย., ดัชนีตลาดที่อยู่อาศัยเดือนพ.ค.จากสมาคมผู้สร้างบ้านแห่งชาติ (NAHB), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ตัวเลขการเริ่มสร้างบ้านและการอนุญาตก่อสร้างเดือนเม.ย., การผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนเม.ย. และดัชนีชี้นำเศรษฐกิจเดือนเม.ย.จาก Conference Board


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ