ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันพฤหัสบดี (16 พ.ค.) หลังสหรัฐเผยดัชนีราคานำเข้าเพิ่มขึ้นมากกว่าคาดในเดือนเม.ย. ซึ่งทำให้นักลงทุนมองว่าภารกิจของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในการต่อสู้กับเงินเฟ้อยังไม่เสร็จสิ้น
ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.11% แตะที่ระดับ 104.462
ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 155.33 เยน จากระดับ 154.91 เยนในวันพุธ (15 พ.ค.) นอกจากนี้ ดอลลาร์ยังแข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9052 ฟรังก์ จากระดับ 0.9030 ฟรังก์, แข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.3613 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3603 ดอลลาร์แคนาดา และแข็งค่าเมื่อเทียบกับโครนาสวีเดน ที่ระดับ 10.7032 โครนา จากระดับ 10.6648 โครนา
ยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.0871 ดอลลาร์ จากระดับ 1.0878 ดอลลาร์ ส่วนเงินปอนด์อ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 1.2675 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2680 ดอลลาร์
กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีราคานำเข้าพุ่งขึ้น 0.9% ในเดือนเม.ย. เมื่อเทียบรายเดือน ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นมากที่สุดในรอบ 2 ปี สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 0.3% หลังจากเพิ่มขึ้น 0.6% ในเดือนมี.ค. โดยการดีดตัวของดัชนีราคานำเข้ามีสาเหตุจากการเพิ่มขึ้นของราคาอาหารและพลังงาน
เมื่อเทียบรายปี ดัชนีราคานำเข้าเพิ่มขึ้น 1.1% ในเดือนเม.ย.
นอกจากนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีราคาส่งออกเพิ่มขึ้น 0.5% ในเดือนเม.ย. เมื่อเทียบรายเดือน ส่วนเมื่อเทียบรายปี ดัชนีราคาส่งออกลดลง 1.0% ในเดือนเม.ย.
ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจด้านอื่น ๆ นั้น กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกลดลง 10,000 ราย สู่ระดับ 222,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว อย่างไรก็ดี ตัวเลขดังกล่าวสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 219,000 ราย ซึ่งบ่งชี้ถึงความอ่อนแอลงของตลาดแรงงานและอาจเปิดทางให้เฟดสามารถปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปีนี้
กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ตัวเลขการเริ่มต้นสร้างบ้านเพิ่มขึ้น 5.7% สู่ระดับ 1.36 ล้านยูนิตในเดือนเม.ย. แต่ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 1.42 ล้านยูนิต
ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เปิดเผย การผลิตภาคอุตสาหกรรมโดยรวมของสหรัฐทรงตัวในเดือนเม.ย. หลังจากเพิ่มขึ้น 0.1% ในเดือนมี.ค. โดยตัวเลขการผลิตภาคอุตสาหกรรมโดยรวม เป็นการวัดการปรับตัวของภาคโรงงาน เหมืองแร่ และสาธารณูปโภค