ภาวะตลาดเงินนิวยอร์ก: ดอลล์แข็งค่า หลังจนท.เฟดแนะจับตาเงินเฟ้อก่อนหั่นดอกเบี้ย

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday May 21, 2024 07:32 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันจันทร์ (20 พ.ค.) หลังจากเจ้าหน้าที่ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณว่าเฟดควรรอหลักฐานเพิ่มเติมเกี่ยวกับการชะลอตัวของเงินเฟ้อ ก่อนที่จะตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ย

ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.15% แตะที่ระดับ 104.57

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 156.27 เยน จากระดับ 155.68 เยนในวันศุกร์ (17 พ.ค.) นอกจากนี้ ดอลลาร์ยังแข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9099 ฟรังก์ จากระดับ 0.9082 ฟรังก์ และแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.3621 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3609 ดอลลาร์แคนาดา แต่ดอลลาร์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับโครนาสวีเดน ที่ระดับ 10.6914 โครนา จากระดับ 10.7070 โครนา

ยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.0865 ดอลลาร์ จากระดับ 1.0876 ดอลลาร์ในวันศุกร์ (17 พ.ค.) ขณะที่เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 1.2711 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2709 ดอลลาร์

นายฟิลิป เจฟเฟอร์สัน รองประธานเฟดกล่าวเมื่อวานนี้ว่า ขณะนี้ยังเร็วเกินไปที่จะบอกได้ว่าเงินเฟ้อกำลังอยู่ในทิศทางขาลง ขณะที่นายไมเคิล บาร์ รองประธานเฟดอีกคนหนึ่งกล่าวว่า เฟดจำเป็นต้องดำเนินนโยบายคุมเข้มด้านการเงินต่อไปอีกระยะหนึ่ง และนายราฟาเอล บอสติก ประธานเฟดสาขาแอตแลนตากล่าวว่า เฟดควรรอเวลาอีกระยะหนึ่งเพื่อให้มั่นใจว่าเงินเฟ้อกำลังอยู่ในทิศทางขาลง

นักลงทุนจับตารายงานการประชุมนโยบายการเงินของเฟดประจำวันที่ 30 เม.ย.-1 พ.ค.ซึ่งจะมีการเผยแพร่ในวันพุธนี้ เพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ทิศทางอัตราดอกเบี้ยของเฟด โดยล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 63.3% ในการคาดการณ์ว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในการประชุมเดือนก.ย.

นอกจากนี้ นักลงทุนยังรอดูข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐในสัปดาห์นี้ ซึ่งได้แก่ ยอดขายบ้านมือสองเดือนเม.ย., จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตและภาคบริการขั้นต้นเดือนพ.ค.จากเอสแอนด์พี โกลบอล, ยอดขายบ้านใหม่เดือนเม.ย., ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือนเม.ย. และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนพ.ค.จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ