ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันพฤหัสบดี (23 พ.ค.) หลังจากเอสแอนด์พี โกลบอลเปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิตและภาคบริการของสหรัฐพุ่งขึ้นอย่างแข็งแกร่ง ซึ่งเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐยังคงมีแนวโน้มที่สดใสในไตรมาส 2 ปีนี้
ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.17% แตะที่ระดับ 105.108
ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 156.90 เยน จากระดับ 156.63 เยนในวันพุธ (22 พ.ค.), แข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.3743 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3695 ดอลลาร์แคนาดา และแข็งค่าเมื่อเทียบกับโครนาสวีเดน ที่ระดับ 10.7486 โครนา จากระดับ 10.7476 โครนา แต่ดอลลาร์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9149 ฟรังก์ จากระดับ 0.9152 ฟรังก์
ยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.0805 ดอลลาร์ จากระดับ 1.0821 ดอลลาร์ในวันพุธ และเงินปอนด์อ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 1.2686 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2714 ดอลลาร์
เอสแอนด์พี โกลบอลเปิดเผยว่า ดัชนี PMI รวมภาคการผลิตและภาคบริการเบื้องต้นของสหรัฐ พุ่งขึ้นสู่ระดับ 54.4 ในเดือนพ.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 25 เดือน จากระดับ 51.3 ในเดือนเม.ย. โดยดัชนี PMI อยู่เหนือระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ถึงการขยายตัวของภาคธุรกิจสหรัฐ
ดัชนี PMI ภาคการผลิตเบื้องต้น ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 50.9 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 2 เดือน จากระดับ 50.0 ในเดือนเม.ย. โดยดัชนี PMI อยู่สูงกว่าระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ว่าภาคการผลิตมีการขยายตัว
ส่วนดัชนี PMI ภาคบริการเบื้องต้น ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 54.8 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 12 เดือน จากระดับ 51.3 ในเดือนเม.ย. โดยดัชนี PMI อยู่สูงกว่าระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ว่าภาคบริการมีการขยายตัว
ทางด้านกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกลดลง 8,000 ราย สู่ระดับ 215,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 220,000 ราย ซึ่งบ่งชี้ว่าตลาดแรงงานของสหรัฐยังคงแข็งแกร่ง