ภาวะตลาดเงินนิวยอร์ก: ดอลลาร์อ่อนค่า หลังสหรัฐเผยข้อมูลเศรษฐกิจซบเซา

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday May 31, 2024 07:17 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันพฤหัสบดี (30 พ.ค.) หลังสหรัฐเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่ซบเซา ขณะที่นักลงทุนจับตาการเปิดเผยดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ของสหรัฐในวันนี้ เพื่อหาสัญญาณที่ชัดเจนเกี่ยวกับช่วงเวลาในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)

ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลดลง 0.36% แตะที่ระดับ 104.716

ดอลลาร์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 156.83 เยน จากระดับ 157.67 เยนในวันพุธ (29 พ.ค.) นอกจากนี้ ดอลลาร์สหรัฐยังอ่อนค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9036 ฟรังก์ จากระดับ 0.9137 ฟรังก์, อ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.3675 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3711 ดอลลาร์แคนาดา และอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับโครนาสวีเดน ที่ระดับ 10.5920 โครนา จากระดับ 10.6735 โครนา

ยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.0837 ดอลลาร์ จากระดับ 1.0806 ดอลลาร์ในวันพุธ ส่วนเงินปอนด์แข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 1.2737 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2705 ดอลลาร์

กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยตัวเลขประมาณการครั้งที่ 2 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประจำไตรมาส 1/2567 โดยระบุว่า GDP ไตรมาส 1 ขยายตัว 1.3% ต่ำกว่าตัวเลขประมาณการครั้งแรกที่ระดับ 1.6% โดยเศรษฐกิจได้รับผลกระทบจากการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่ชะลอตัวลง

ทางด้านกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกเพิ่มขึ้น 3,000 ราย สู่ระดับ 219,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 218,000 ราย

ล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 50.4% ที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนก.ย. ซึ่งเพิ่มขึ้นจากระดับ 48.7% ในช่วงก่อนที่สหรัฐจะเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าว

นักลงทุนจับตาการเปิดเผยดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ของสหรัฐในวันนี้อย่างใกล้ชิด เพื่อหาสัญญาณบ่งชี้กำหนดเวลาในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของเฟด โดยดัชนี PCE เป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่เฟดให้ความสำคัญ เนื่องจากสามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภค และครอบคลุมราคาสินค้าและบริการในวงกว้างมากกว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI)


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ